เปิดโรดแมป SCB สู่เบอร์ 1 ดิจิทัลแบงก์-บริหารความมั่งคั่ง

09 พ.ย. 2566 | 11:06 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ย. 2566 | 11:06 น.

SCB ประกาศปี 2025 ขึ้นแท่นเบอร์ 1 บริหารความมั่งคั่ง เพิ่มสัดส่วนรายได้ดิจิทัลแบงก์เป็น 25% เดินหน้าปล่อยสินเชื่อสีเขียวให้ได้ 1 แสนล้านบาท หวังช่วยลูกค้าสู่ Net ZERO จ่อเปิดแพลตฟอร์ม Biz anywhere แทน S1 ภายในสิ้นปีหน้า

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)  “SCB”  หรือ "แบงก์สยามกัมมาจล" ในอดีต ถือเป็นธนาคารแห่งแรกในประเทศไทย ปัจจุบันมีอายุ 116 ปี เปลี่ยนผู้บริหารมาหลายยุคสมัย ล่าสุดมีนายกฤษ์ณ์  จันทโนทก ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ก้าวย่างสู่อนาคตของ  SCB นับจากนี้ถูกวางไว้อย่างไร และเป้าหมายจะเป็นอย่างไร คณะผู้บริหารของ SCB ได้เปิดใจต่อคณะสื่อมวลชนระหว่างการเดินทางเยือนประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถือมีนัยที่น่าสนใจยิ่ง

นายกฤษณ์  จันทโนทก ซีอีโอธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ นับจากนี้จะต้องเป็น Digital Bank with Human Touch ด้วยการประสานโลกเก่าและโลกใหม่ โดยเทคโนโลยีต้องง่าย และต้องทำให้เกิดความเชื่อใจ กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เมื่อเข้ามารับตำแหน่งและมีทีมผู้บริหารชุดใหม่ ได้วางกลยุทธ์ชัดเจนว่าจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร  โดยการยึดหลักเก้าอี้ 3 ขา ได้แก่

 

 

  1. การยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง
  2. ต้องทำให้เพื่อนพนักงาน สนุก สามัคคี สำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่ “พูดง่ายทำยาก” ตอนเข้ามาทุกคนกังวลว่าไทยพาณิชย์จะไปอย่างไรต่อ เพราะมีการจัดตั้ง เอสซีบีเอกซ์  ซึ่งตนมั่นใจว่า ธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์จะอยู่คู่กับคนไทยไปอีก 100 ปีข้างหน้า ถ้าปรับตัวให้สอดคล้อง ร่วมสมัย   ถ้าพนักงานสนุก สามัคคี สำเร็จ ย่อมทำให้ลูกค้าจะได้รับบริการที่ดี
  3. เมื่อเป็นเช่นนั้นย่อมทำให้ผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นเก้าอี้ขาที่ 3 มีความสุขเพราะได้รับการปันผลที่ดี มีความสุขกับผลประกอบการที่ดีของไทยพาณิชย์

เปิดโรดแมป SCB สู่เบอร์ 1 ดิจิทัลแบงก์-บริหารความมั่งคั่ง

สำหรับในปี 2024 มองว่ามี 4 ความท้าทายคือ

  1. อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่าจะไม่ขึ้นไปกว่านี้ ทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยลดลง ดังนั้นจึงต้องหา Growth Engine  เพื่อสร้าง Growth Story
  2. ความเสี่ยงจากหนี้เสีย จากกลุ่มลูกค้าเปราะบาง ทั้งรายย่อย และรายใหญ่ที่จะเพิ่มขึ้น
  3. เทคโนโลยี ที่เปลี่ยนแปลงไปมากจากวันที่รับตำแหน่งจนถึงวันนี้ เชื่อว่า AI ในอีก 12 เดือนจะเห็นก้าวกระโดดมากขึ้น แต่โจทย์คือการตอบโจทย์บริการลูกค้าที่เป็นปัจเจกบุคคลซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายในทุกอุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจธนาคาร
  4. การที่ทุกธนาคารต้องหันมามองเรื่อง “ต้นทุน” จะต้องสร้างระบบอัตโนมัติ ที่ไม่ใช้คน มาทำงานแทนคนให้มากขึ้น และหารายได้จากดิจิทัลมากขึ้น เพื่อลดความผันผวน ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายทุกองค์กรรวมทั้งไทยพาณิชย์

“เป้าหมายปี 2025 เอสซีบี จะผลักดันรายได้จากดิจิทัล เพิ่มเป็นสัดส่วน 25% หรือ 1 ใน 4 ของรายได้รวม ซึ่งถือว่าท้าทายมาก แต่เชื่อว่าเราจะทำได้สำเร็จ ถ้าทำได้ในระดับนี้ จะทำให้เราก้าวหน้ากว่าดิจิทัลแบงก์รายใหม่ ๆ ในตลาด ที่กว่าจะตามเราทันก็คงต้องใช้เวลา 5 ปีหรือ 10 ปี

ขณะเดียวกัน SCB จะเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายสู่ Net Zero ปี 2030  ช่วยลูกค้า โดยให้สินเชื่อสีเขียว โดยลูกค้าภายในปี 2050 จะต้องเป็น Net Zero  โจทย์นี้ยากมาก แต่ SCB เป็นผู้นำ และมาก่อนคนอื่น โดยที่ผ่านมา ได้ปล่อยสินเชื่อสีเขียว ไปแล้ว 52,000 ล้านบาท สูงกว่าธนาคารอื่น 2-3 เท่า ดังนั้นเป้าหมายที่ 100,000 ล้านบาทในปี 2025 จึงไม่ไกลเกินเอื้อม

“ผมเชื่อว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ จะเป็นธนาคารอันดับ 1 และทำเรื่อง Digital Bank with Human Touch ได้ในที่สุด” นายกฤษณ์กล่าว

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า SCB ต้องเป็นที่ 1 ในธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) เห็นได้จากในช่วงหลังธนาคารระดับโลก ที่ประสบความสำเร็จ มีผลลัพธ์จาก P/BV Ratio และ ROE ที่ดีขึ้น ส่วนใหญ่เพราะว่าธนาคารเหล่านั้นให้ความสำคัญกับเรื่องธุรกิจความมั่งคั่งแทบทั้งสิ้น เพราะประชากรศาสตร์ คือเรื่องสำคัญเกิดทั่วโลก กลุ่มผู้สูงอายุ จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพียงพอในระยะยาว ระบบประกันสังคมคงไม่เพียงพอ

 “เมื่อก่อนเรามองว่าธุรกิจความมั่งคั่งเป็นเรื่องของคนมีฐานะร่ำรวยเท่านั้น แต่ต่อไปจะไม่ใช่แล้ว จะเป็นเรื่องของทุกคน เรามีความเชื่อมั่นว่านี่เป็น area ที่มีความสําคัญ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากทั้งธนาคารไทยพาณิชย์ รวมถึงการ Synergy บริษัทที่อยู่ในกลุ่ม และพันธมิตรที่เข้มแข็งอย่าง Julius Baer, FWD และมีพันธมิตรอื่นๆ อีกมากมาย ปัจจุบันรายได้ของธุรกิจ Wealth ของเอสซีบี ทั้ง Investment และ Insurance รวมกันเพิ่มขึ้นมาเป็น 20% จาก ปี 2017 ที่มีเพียง 7% ของรายได้ธนาคาร เราจึงมองว่าเป็นธุรกิจที่ต้องให้ความสำคัญต่อไปในอนาคต”

นายอรพงศ์ เทียนเงิน ผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Technology ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2015 เอสซีบีมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีจำนวนมาก ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ทุกวันนี้เอสซีบีมีลูกค้าประมาณ 17 ล้านราย โดย 14 ล้านราย เป็น Digital Active คือ มีการ Interaction ผ่าน Digital Chanel อยู่ตลอดเวลา ซึ่ง Digital Chanel ใหญ่ๆ ของเอสซีบี คือ SCB EASY สำหรับลูกค้า Retail และสำหรับลูกค้า Corporate จะมีแพลตฟอร์มที่เรียกว่า S1 กับ CDX หรือ Biz anywhere ที่จะมาแทน S1 ภายในสิ้นปีหน้า

ดังนั้นโดยรวมทุกวันนี้เอสซีบีมีลูกค้าผ่าน Digital Chanel 14 ล้านราย 33 ล้าน Account หลายปีที่ผ่านมาได้สร้าง Digital Community ที่ใหญ่แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในอีกหลายด้านเพื่อเปลี่ยนโลกธนาคาร โดยในปีหน้า เอสซีบีมีงบลงทุนด้านไอทีที่ 8,000 ล้านบาท และซึ่งจะลงทุนระดับนี้ต่อไปอีก 3-4 ปี

นางสาวลลิตภัทร ธรณวิกรัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจของ SCB Julius Baer ถือเป็นนิช มาร์เก็ต เน้นการให้บริการแบบ Highly personalize โดยในระยะหลัง ๆ ของการดูแลลูกค้ากลุ่ม Private Banking จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก

ทั้งนี้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ธนาคารไทยพาณิชย์มีการมองหาพาร์ทเนอร์ต่างชาติ เพื่อเข้าถึงการลงทุนในตลาดต่างประเทศ ได้เจอกับจูเลียส แบร์ ซึ่งจูเลียส แบร์ มี Infrastructure และ Platform จะรวมกันอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งปัจจุบัน ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ ก่อตั้งมาเข้าปีที่ 5 แล้ว โดยมีการทำงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อบริการลูกค้าให้ได้ตามที่ต้องการ สามารถพูดได้ว่า ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ เป็นที่เดียวที่สามารถให้บริการลูกค้าได้ครบที่สุด

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,938 วันที่ 9 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566