หุ้นกู้ระสํ่า ปี 67 ตราสารหนี้ครบดีล 2.4 ล้านล้านบาท

08 ธ.ค. 2566 | 09:59 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ธ.ค. 2566 | 10:00 น.

ตลาดตราสารหนี้ระส่ำ ธ.ค. ครบกำหนด 2.97 แสนล้านบาท หวั่นต้นทุนโรลโอเวอร์พุ่ง หลังดอกเบี้ยขาขึ้น จับตาปี 67 ครบดีลถึง 2.41 ล้านล้านบาท เซ็กเตอร์ไฟแนนซ์นำโด่ง ครบกำหนดกว่า 2.04 แสนล้านบาท คลังยันไม่กระทบบอนด์ เหตุใช้งบไปพลางก่อน

ตลาดตราสารหนี้ 1 ใน 3  ของตลาดระดมทุนสำหรับภาคธุรกิจและรัฐบาล ล่าสุด ณ วันที่ 6 ธันวาคม 2566 มียอดคงค้างทั้งสิ้น 16.43 ล้านล้านบาท โดยเป็นพันธบัตรรัฐบาล 11.67 ล้านล้านบาท หุ้นกู้เอกชน 4.68 ล้านล้านบาทและพันธบัตรต่างประเทศอีก 82,739 ล้านบาท

ธ.ค.ครบดีล2.97แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนธันวาคมปี 2566 มีตราสารหนี้ที่จะครบกำหนดการชำระคืน 2.97 แสนล้านบาท โดยเป็นหุ้นกู้เอกชน 86,190 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นกู้ระยะยาว 18,455 ล้านบาท โดยมีต้นทุนดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 4.59% และหุ้นกู้ระยะสั้นอีก 67,735 ล้านบาท ที่เหลือเป็นของกระทรวงการคลังรวม 210,748 ล้านบาท แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาล 130,748 ล้านบาทและตั๋วคงคลังอีก 8 หมื่นล้านบาท

ตลาดตราสารหนี้ไทย

ขณะที่ปี 2567 จะมีตราสารหนี้ที่จะครบกำหนดการชำระคืนถึง 2.41 ล้านล้านบาท โดยเป็นหุ้นกู้เอกชน 1.1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น หุ้นกู้เอกชนระยะยาว 892,770 ล้านบาท ซึ่งมีต้นทุนดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 3.62% และหุ้นกู้เอกชนระยะสั้น 210,268 ล้านบาท นอกจากนั้นเป็นส่วนของกระทรวงการคลัง 1.19 ล้านล้านบาท โดยเป็นพันธบัตรรัฐบาล 823,490 ล้านบาทและตั๋วคงคลัง 370,000 ล้านบาทที่เหลือเป็นพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ 113,510 ล้านบาท

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ช่วงเดือนธันวาคม 2566 จะมีหุ้นกู้เอกชนที่จะครบกำหนดชำระ ทั้งระยะสั้นและระยะยาวรวม 8.62 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นกู้ระยะยาว 1.84 หมื่นล้านบาทและหุ้นกู้ระยะสั้นอีก 6.77 หมื่นล้านบาท

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

 

ไฟแนนซ์พุ่ง 3.27 หมื่นล้านบาท

สำหรับหุ้นกู้ระยะยาวที่จะครบกำหนดในเดือนนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในเซ็กเตอร์พลังงาน 5,650 ล้านบาท ไฟแนนซ์ 5,951 ล้านบาท และสื่อสาร 2,100 ล้านบาท ขณะที่หุ้นกู้ระยะสั้นอยู่ในเซ็กเตอร์ไฟแนนซ์ 26,735 ล้านบาท พร๊อพเพอร์ตี้ 17,380 ล้านบาท อาหาร 6,790 ล้านบาท ธนาคาร 6,600 ล้านบาท ขนส่ง 5,330 ล้านบาทและการเกษตร 2,650 ล้านบาท

ขณะที่ปี 2567 พบว่า ตราสารหนี้ที่จะครบกำหนดการชำระคืนจากฐานข้อมูลสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) รวมทั้งสิ้น 2,410,038 ล้านบาท เฉพาะหุ้นกู้ภาคเอกชน 1,103,038ล้านบาท แบ่งเป็น หุ้นกู้ระยะยาว 892,770 ล้านบาทและหุ้นกู้ระยะสั้น 210,268 ล้านบาท

ทั้งนี้หุ้นกู้ที่ครบกำหนดส่วนใหญ่อยู่ในเซ็กเตอร์ ไฟแนนซ์ 204,892 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นกู้ระยะยาว 153,778ล้านบาทและหุ้นกู้ระยะสั้น 51,114 ล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มอสังหาฯ 186,998 ล้านบาท แบ่งเป็น หุ้นกู้ระยะยาว 160,218 ล้านบาทและหุ้นกู้ระยะสั้น 26,780ล้านบาท และกลุ่มพลังงาน 134,788 ล้านบาท เแบ่งเป็นหุ้นกู้ระยะยาว 118,398 ล้านบาทและหุ้นกู้ระยะสั้น 16,390ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีพันธบัตรรัฐบาลที่จะครบกำหนดอีก 823,490 ล้านบาท ตั๋วเงินคลัง 370,000 ล้านบาทและพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ 113,510 ล้านบาท

“ปัจจุบันบางธุรกิจยังสามารถระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ ทั้งเพื่อชำระคืนสินเชื่อธนาคารและเตรียมระดมทุนใหม่ เพราะสามารถล็อกต้นทุนทางการเงินในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทยอยปรับขึ้น”นางสาวกาญจนากล่าว

ทั้งนี้ เห็นได้จากภาพสะท้อนจากตลาดหุ้นกู้ ซึ่งแม้ว่า ยอดคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่งรวมตราสารระยะสั้น จะเติบโตในอัตราที่ชะลอลงมาที่ 8% ในไตรมาส 3 ปี 2566 เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ก็ยังขยายตัวสูงกว่าสถานการณ์สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และแนวโน้มปีหน้าน่า จะมีการออกหุ้นกู้ระยะยาวต่อเนื่องในกรอบประมาณ 9.5-9.9 แสนล้านบาท

แนวโน้มเอกชนออกหุ้นกู้พุ่ง

นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทีทีบีธนชาต หรือ ttb analytics กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ปีหน้าภาคเอกชนมีแนวโน้มจะออกหุ้นกู้มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่กู้เพื่อนำเงินมาลงทุน  แต่เพื่อชำระหนี้หุ้นกู้ที่ครบกำหนด(โรลโอเวอร์) แต่ภาระหนี้หรือภาระดอกเบี้ยจะแพงขึ้น ทั้งยีลด์และ Credit Spread จากอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ปรับเพิ่มขึ้น

นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทีทีบีธนชาต

“ต้นทุนบอนด์ยีลด์แนวโน้มปรับขึ้นมากกว่าต้นทุนด้านเงินฝาก ดังนั้นธุรกิจรายใหญ่ที่มีการระดมทุนผ่านหุ้นกู้ น่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าสินเชื่อ แต่แนวโน้มการระดมทุนบริษัทขนาดใหญ่นั้น มีทางออกทั้งหมด ยกเว้นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ใช้ช่องทางธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก โดยยอมรับว่าหุ้นกู้ยังน่ากลัวสม่ำเสมอ” นายนริศกล่าว

สำหรับแนวโน้มปีหน้า ส่วนตัวยังมองว่า แนวโน้มความต้องการสินเชื่อและออกหุ้นกู้ใหม่นั้น ส่วนใหญ่ภาคธุรกิจจะป็นการโรลโอเวอร์เป็นหลัก ส่วนเม็ดเงินสำหรับการลงทุนใหม่นั้นเชื่อว่า จังหวะนี้ภาคธุรกิจคงจะคิดหนักเหมือนกัน เพราะสภาพเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน ทำให้ทุกคนยังรอความชัดเจนจากนโยบายภาครัฐด้วย

ขณะเดียวกันปีหน้ายังคงต้องเฝ้าระวังด้านปัจจัยเสี่ยง นอกจากภาคส่งออกอาจชะลอตัว ทำให้รายรับของบริษัทใหญ่ชะลอไปด้วย อีกทั้ง ที่ผ่านมาภาคส่งออกไม่ได้เติบโต 7% หรือ 15% อย่างที่เคยผ่านมา ที่สำคัญภาพที่ต้องจับตาคือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งไฮซีซันรอบนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวจากจีนหรือแนวโน้มการบริโภคในประเทศที่เป็นตัวค้ำเศรษฐกิจในช่วงสองปีที่ผ่านมา

“ปีหน้าการบริโภคในประเทศจะยังเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหรือไม่ ยังต้องจับตา แต่ยอมรับว่า การมีมาตรการกระตุ้นคงจะช่วยได้บ้าง ส่วนทิศทางการจะลงทุนโครงการใหญ่หรือการลงทุนใหม่ๆ ขณะที่ความต้องการสภาพคล่องเพื่อการลงทุนใหม่ๆนั้น เข้าใจว่า ผู้ประกอบธุรกิจโดยรวมยังคงประเมินทิศทางเศรษฐกิจ ”นายนริศกล่าว

ส่วนไตรมาส4 ปีนี้ มองว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงต้องตั้งสำรองอย่างระมัดระวังต่อเนื่อง และทิศทางการสำรองเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ซึ่งระบบธนาคารมีการตั้งสำรองอย่างระมัดระวัง แม้อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นและมีรายได้เพิ่มก็จริง แต่การแข่งขันเงินฝากก็เพิ่มจากต้นทุนเงินฝากเพิ่มขึ้น ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) อยู่ในระดับ 3.1%”นายนริศกล่าว

คลังยันไม่กระทบบอนด์

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า แม้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่มีผลบังคับใช้ล่าช้า แต่จะไม่มีผลต่อการบริหารจัดการหนี้ของภาครัฐ เนื่องจากยังสามารถใช้งบประมาณไปพลางก่อนได้ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ สำหรับปีงบ 2567 จำนวน 118,320 ล้านบาท

ขณะที่พันธบัตรัฐบาลที่จะครบอายุในปี 67 นี้ ก็มีสัดส่วนปกติเทียบเท่ากับปีที่ผ่านมา ซึ่งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ดำเนินการบริหารจัดการส่วนนี้ไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ในแผนบริหารหนี้สาธารณะรอบแรก เพราะเป็นวงเงินที่ได้รับอนุมัติไว้แล้ว เป็นกรอบวงเงินกู้เดิมที่สามารถใช้งบประมาณไปพลางก่อน เพื่อโรลโอเวอร์บอนด์ได้ ไม่ได้เป็นการกู้ในกรอบวงเงินใหม่แต่อย่างใด

ส่วนกรณีหุ้นกู้ภาคเอกชนที่จะครบกำหนดชำระปี 2567 มีจำนวนมากนั้น ยืนยันว่า ไม่มีผลต่อการแย่งสภาพคล่องของตลาดจากการที่รัฐบาลจะระดมทุนด้วย โดยการปรับโครงสร้างหนี้ของภาครัฐมีการทยอยปรับอย่างต่อเนื่อง และยังมีเครื่องมือที่ใช้ในการระดมทุนหลายวิธี เช่น หากมีพันธบัตรที่จะครบกำหนดปี 2567 สบน.ก็มีการกู้ล่วงหน้า หรือใช้วิธีการ Bond Switching

“พันธบัตรรัฐบาลกับหุ้นกู้เอกชนนั้น บางครั้งกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกัน เช่น หุ้นกู้เอกชนเน้นขายให้กับนักลงทุนรายย่อย ซึ่งจะใกล้เคียงรูปแบบระดมทุนพันธบัตรออมทรัพย์ ส่วนนี้สบน.ก็จะมีการดูรูปแบบการระดมทุนของเอกชนอีกครั้ง เพื่อไม่ให้มีปัญหาในการแย่งสภาพคล่อง โดยเครื่องมือหลักในการระดมทุนของรัฐบาลในปี 67 ยังเป็นพันธบัตรระยะยาว และพันธบัตรออมทรัพย์ก็ยังมีอยู่ แต่จะต้องออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม“

ยันไม่กระทบผู้รับเหมาเดิม

ด้านนางสาวทิวาพร ผาสุข รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลางกล่าวว่า พ.ร.บ.งบประมาณปี 67 มีผลบังคับใช้ล่าช้า ไม่มีผลต่อการเบิกจ่ายและการจ่ายเงินให้กับผู้รับเหมาโครงการของรัฐ เนื่องจากเป็นโครงการต่อเนื่องสามารถใช้งบประมาณพลางก่อนได้ ยกเว้นโครงการลงทุนใหม่นั้น ตามกฎหมายยังไม่สามารถเดินหน้าได้ เนื่องจากจะต้องงบประมาณมีผลบังคับใช้

นางสาวทิวาพร ผาสุข รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง

อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในโครงการใหม่ๆ ดำเนินการล่าช้า กรมบัญชีกลางก็ได้มีการเตรียมขั้นตอน TOR เพื่อให้กระบวนการสามารถทำได้เลยหากพ.ร.บ.งบประมาณมีผลบังคับใช้แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล(บอนด์ยีลด์) อายุ 10 ของไทยปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี ตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทย การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ที่สกัดอัตราเงินเฟ้อ ทำให้บอนด์ยีลด์ของพันธบัตรสหรัฐ 10 ปี เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน โดยพบว่า บอนด์ยีลของไทยเมื่อต้นปีอยู่ที่ระดับ 2.205% และล่าสุดปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.875% ในวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ซึ่งจะเป็นตัวอ้างอิงในการออกหุ้นกู้เอกชนเช่นกัน

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,947 วันที่ 10 - 13 ธันวาคม พ.ศ. 2566