สินทรัพย์รอการขาย(เอ็นพีเอ)หรือ NPA ณ สิ้นเดือน ตุลาคม 2566 รวมมูลค่า 253,525 ล้านบาท แบ่งเป็น
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มปี 2567 สถาบันการเงินในระบบทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันฟการเงินเฉพาะกิจของรัฐ มีความเป็นไปได้ที่จะต้องขออนุญาตกระทรวงการคลังเป็นรายปี กรณีถือครองเอ็นพีเอ 5-10 ปี หลังจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2565-2566) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนคลายเกณฑ์เอ็นพีเอ โดยให้สถาบันการเงินถือครองทรัพย์ เท่ากันทุกรายการเป็นเวลา 5 ปีและผ่อนผันได้อีก 5 ปี โดยที่สถาบันการเงินต้องกันสำรอง 100% ของมูลค่าตามราคาประเมิน
ขณะเดียวกันยังผ่อนผันเอ็นพีเอ สำหรับพื้นที่เสี่ยง เช่น ในเขตพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา (บางอำเภอ) หรือพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตป่าสงวน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นต้น
นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคาร กสิกรไทยกล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ท่ามกลางปัจจัยท้าทายทั้งในและต่างประเทศ ปริมาณทรัพย์เอ็นพีเอยังมีแนวโน้มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่มีจำนวนไม่มากนัก ขณะที่ธนาคารต่างๆ ได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาการชำระหนี้ ตามมาตรการของธปท.
ในส่วนของธนาคารกสิกรไทยนั้น แนวทางการตลาดเอ็นพีเอในไตรมาส 4 ปีนี้ ธนาคารได้เร่งปรับปรุงทรัพย์ให้พร้อมขาย เจรจากับผู้อยู่อาศัยเดิมในเชิงรุก และเพิ่มช่องทางโบรกเกอร์ในการสนับสนุนการขาย คาดว่า ตัวเลขยอดขายในปีนี้ จะอยู่ที่ประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับยอดขายเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง
ทั้งนี้ ในช่วงปิดท้ายปี 2566 ธนาคารได้ปล่อยแคมเปญ บ้านมือสองกสิกรไทย “คุ้มแรง” โดยคัดทรัพย์มือสองคุณภาพดี ทำเลเยี่ยม หลากหลายประเภท ได้แก่ บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม อาคารพาณิชย์ ที่ดินเปล่า และทรัพย์เพื่อทำธุรกิจ เช่น โกดัง โรงงาน อพาร์ตเมนต์ ลดแรงสูงสุดถึง 70% ฟรีค่าโอนสูงสุด 300,000 บาท รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 1.99% นาน 1 ปีแรก กู้ได้สูงสุด 110% กรณีที่กู้ไม่ผ่านทางธนาคารจะคืนเงินมัดจำ
“เมื่อซื้อทรัพย์มือสองในกลุ่มทรัพย์ดับเบิ้ลคุ้ม รับฟรีบัตรของขวัญเซ็นทรัลมูลค่า 15,000 บาท (จำนวนจำกัด) พร้อมส่วนลดสำหรับซื้อและติดตั้งโซลาร์รูฟ จาก PSI มูลค่าสูงสุด 121,000 บาท การันตี คัด คุ้ม ครบ ไม่ว่าซื้อเพื่ออยู่อาศัย หรือลงทุนปล่อยเช่า-ขายต่อก็คุ้มค่า โดยระยะเวลาแคมเปญตั้งแต่พฤศจิกายน ถึง 29 ธันวาคม 2566”
นายชัยยศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ยอดขายเอ็นพีเอของธนาคารกสิกรไทยในปีนี้ ทรงตัวใกล้เคียงกับปีก่อนโดยมีปัจจัยท้าทายจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ ระยะเวลาการจัดตั้งรัฐบาล อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น จากมติคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 5 ครั้งรวม 1.25% กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นความต้องการซื้อในตลาดอย่างต่อเนื่อง อาทิ ค่าธรรมเนียมในการโอน ปี 2565 เท่ากับ 0.01% ส่วนปี 2566 เท่ากับ 1% และค่าจดจำนอง 0.01% (ปี 2565- 2566)
นอกจากนั้น ยังมีความท้าทายในต่างประเทศ ได้แก่ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล- ปาเลสไตน์ ที่กระทบความเชื่อมั่นในภาพรวม ในขณะที่นโยบายเปิดประเทศของจีนมีส่วนหนุนการซื้อคอนโดมิเนียมในประเทศไทยอยู่บ้าง แต่ด้วยโควต้าต่างชาติที่มีอยู่จำกัด จึงไม่ส่งผลกับการเพิ่มยอดซื้อขายที่อยู่อาศัยมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับทรัพย์มือสอง NPA โดยตัวเลขยอดขายที่ลดลงนี้ สอดคล้องกับการประมาณยอดโอนกรรมสิทธิที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะหดตัวประมาณ 7.8% ในปี 2566
ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH BANK ระบุว่า ภาพรวมเอ็นพีเอสิ้นเดือนกันยายน ที่มีีจำนวน 8,314 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ เอ็นพีเอทั่วไป กับเอ็นพีเอที่อยู่ในโครงการพักทรัพย์พักหนี้ (Asset Warehousing) โดยเอ็นพีเอทั่วไป 1,500 ล้านบาท จะเป็นลักษณะ Long-term ดังนั้นภาพรวมยังคงทรง ๆ ไม่เปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันมากนะ ยังสามารถบริหารจัดการได้
นอกจากนั้นยังมีเอ็นพีเอที่อยู่ในโครงการ Asset Warehousing อีกราว 6,800 ล้านบาท เนื่องจากเป็นโครงการที่มีอายุ 3-5 ปี และเพิ่งมีการปิดโครงการไป ดังนั้น ลูกค้าเพิ่งอยู่กับธนาคารได้ประมาณ 6 เดือน จึงยังไม่เห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่มีลูกค้าบางกลุ่ม เช่น กลุ่มห้องชุดมีการมาซื้อคืนบ้าง แต่ยังไม่มีสัญญาณที่ลูกค้าจะไม่มาซื้อคืนหรือต้องขายออก
อย่างไรก็ตาม เฉพาะเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ที่มีเอ็นพีเอเพิ่มขึ้น 5 แห่งได้แก่ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ 960% ธนาคาร เกียรตินาคิน 32.96% ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 25.47% กสิกรไทย 15.09% และไทยพาณิชย์ 13.74%
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,946 วันที่ 7 - 9 ธันวาคม พ.ศ. 2566