ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)รายงานสถิติการชำระเงิน สิ้นเดือนธันวาคม 2566 พบว่า ธุรกรรมการชำระเงินผ่าน Internet Banking มีผู้ใช้บริการลดลง 30.7.% เหลือจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการ 28.8 ล้านบัญชี จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 41.5 ล้านบัญชี ขณะที่ ปริมาณรายการปรับลดลง 1.33% อยู่ที่ 595,789 พันรายการ มูลค่าการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 4.09% จาก 32,404 พันล้านบาท เป็น 33,731 พันล้านบาท
ส่วนธุรกรรมการชำระเงินผ่าน Mobile Banking กลับมีจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการเพิ่ม 10.9% แตะ 107 ล้านบัญชี ปริมาณรายการขยับเพิ่ม 29.4% เป็น 29,551,805 พันรายการ แบ่งเป็นการโอนเงินและชำระเงิน 28,749,319 พันรายการเพิ่มขึ้น 29.4% และการถอนเงินสด 802,489 พันรายการเพิ่มขึ้น 29.9% ขณะมูลค่าการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 5.0% แบ่งเป็น การโอนเงินและชำระเงิน 69,342 พันล้านบาทเพิ่มขึ้น 4.7% และการถอนเงินสด 1,725 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
ธปท.เผยผลคืบหน้า “การต่อยอดพร้อมเพย์ด้วย Cross-border Payment (พระสยาม BOT MAGAZINE เมื่อ 1ก.พ.2567) ว่า ปัจจุบันไทยได้เชื่อมโยงระบบการชำระเงิน QR Payment แล้วกับ 6ประเทศคือ ญี่ปุ่นกัมพูชา เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฮ่องกง โดยธุรกรรม cross-border QR payment เพิ่มขึ้นเกือบ 475 เท่า และธุรกรรม cross-border real-time remittance เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า ในช่วงปี 2564-2566
ล่าสุดธปท.มีแผนขยายการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินกับประเทศใหม่ๆ โดยเฉพาะกับประเทศที่มีความสำคัญต่อไทยทั้งในภาคการท่องเที่ยวและแรงงาน รวมถึงที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างกันจำนวนมาก และยังศึกษาแนวทางความร่วมมือและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกของบริการชำระเงินระหว่างประเทศในอนาคตคู่ขนานกันไปด้วย
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สาเหตุที่ยอดการถอนเงินสดเพิ่มขึ้น ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ส่วนหนึ่งน่าจะกรมสรรพากรสำรองเงินสดไว้จ่ายกรณีที่ร้านค้าจะรับเฉพาะเงินสด ยกเลิกการสแกนจ่ายเงินหน้าร้าน เนื่องจากไม่ต้องการให้ถูกดึงเข้าระบบภาษีของกรมสรรพากร เมื่อพบว่า รายการโอนเงินเข้าออกเกินกว่าที่กรมสรรพากรกำหนดไว้
นางสาวศิริพร วงศ์ตรีภพ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคาร กสิกรไทยกล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธนาคารกำหนดแผนพัฒนาระบบการชำระเงินตามกลยุทธ์ “Dominate Digital Payment“ เพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโต ซึ่งปี 2566 ที่ผ่านมา ธนาคารเป็นผู้นำที่มีผู้ใช้งาน K PLUS ถึง 21.7 ล้านคน ขณะที่ด้าน Payment ผ่านช่องทาง K PLUS มีแผนมุ่งเน้นที่จะรองรับความต้องการในการจับจ่ายใช้สอยระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ลูกค้าธนาคารใช้งาน Cross-Border QR Payment ผ่านK PLUS มากกว่า 40% Market Share ในการใช้จ่ายขาเข้า (Inbound) เพื่อรองรับชาวต่างชาติเข้ามาใช้ในประเทศไทย และขาออก (Outbound) เพื่อรองรับชาวไทยที่เดินทางไปยังต่างประเทศ ซึ่งในการกำหนดแผนงานจะคำนึงถึงโอกาสทางการตลาด ตลอดจนความท้าทายจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์การเมือง และกฎระเบียบต่างๆ
ขณะเดียวกัน ธนาคารยังเข้าร่วมบริการชำระเงินเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ตามนโยบายของภาครัฐตามมาตรฐาน Thai QR แบ่งออกเป็น 1. ขาเข้า (Inbound) ได้เชื่อมต่อบริการกับมาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ กัมพูชา และอินโดนีเซียแล้ว และปี 2567 จะเชื่อมต่อกับลาว และอินเดีย และ 2. ขาออก (Outbound) มีแผนเชื่อมต่อบริการกับญี่ปุ่น ฮ่องกง ลาว อินเดีย กัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีิเซีย และเกาหลีใต้ ในระยะถัดไป
ทั้งนี้ K PLUS สแกนจ่าย QR Code ในต่างประเทศ การใช้จ่ายแบบ Cashless และ Contactless ที่คนไทยคุ้นเคย สามารถใช้ K PLUS สแกนจ่าย UnionPay QR Code ได้ในกว่า 40 ประเทศ/ภูมิภาค ครอบคลุมประเทศปลายทางที่คนไทยนิยมท่องเที่ยว เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา และอื่นๆ มีจุดเด่นเรื่องความสะดวกไม่ต้องพกเงินสด ได้เรทอัตราแลกเปลี่ยนที่ดี ไม่มียอดขั้นตํ่าและฟรีค่าธรรมเนียม มีวงเงินใช้จ่ายสูงสุด 100,000 บาทต่อวัน
สำหรับจำนวนร้านค้าที่รับ UnionPay QR Code มีทั้งหมด 40 ล้านร้านค้า โดยเป็นร้านค้าในประเทศจีน มี 36 ล้านร้านค้า และนอกประเทศจีนอีก 4 ล้านร้านค้า
ทั้งนี้จำนวนลูกค้า K PLUS ที่ใช้บริการ UnionPay QR Payment กว่า 2.5 ล้านคน โดยปริมาณธุรกรรมในปี 2566 เติบโต 13 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2565 เนื่องจากจีนเพิ่งจะเปิดประเทศและอนุญาตให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาเที่ยวที่จีนได้ตั้งแต่ 15 มีนาคม 2566 ทำให้ปริมาณธุรกรรม 75% เป็นการใช้จ่ายในจีน
ขณะที่ยอดใช้จ่าย ผ่าน UnionPay QR Code บน K PLUS ในปี 2566 เติบโต 7 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2565 โดย 82% เป็นการใช้จ่ายในจีนเช่นกัน สำหรับปี 2567 คาดว่า จะมีการใช้จ่ายด้วย UnionPay QR Code เพิ่มขึ้น จากการเปิดฟรีวีซ่าไทย-จีน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 และการท่องเที่ยวต่างประเทศของคนไทยฟื้นตัวกลับมาปกติ
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,980 วันที่ 4 - 6 เมษายน พ.ศ. 2567