สถานการณ์หนี้ของคนไทยยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหา โดยข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัดหรือ เครดิตบูโร ใน 5 เดือนแรกของปี 2567 พบว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPLs) หรือหนี้เสียปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.14 ล้านล้านบาท คิดเป็น 3.2% จากไตรมาสก่อนหน้าและเพิ่มขึ้น 11.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
โดยหนี้เสียมากที่สุดเป็นสินเชื่อรถยนต์อยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน รองลงมาคือหนี้เสียจากสินเชื่อบ้านอยู่ที่ 2.18 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.4% และอันดับ3 เป็นสินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ 6.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.6%
ขณะที่กระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะช่วยเหลือลูกหนี้เอสเอ็มอีที่เป็นหนี้เสียจากผลกระทบของโควิด หรือ ลูกหนี้รหัส 21 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สามารถหลุดจากติดแบล็คลิสต์ (Black List) ได้เร็วขึ้นจาก 8 ปี เหลือมีอายุความ 3 ปี และเก็บประวัติไว้ 3 ปีเพื่อให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้อีกครั้ง
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร)เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ลูกหนี้รหัส 21 มีอยู่ประมาณ 4.3 ล้านบัญชี ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ลูกหนี้กลุ่มนี้ก่อนปี 2562 สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติได้อย่างดี แต่เริ่มเกิดปัญหาการชำระหนี้ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา จนกระทั่งกลายมาเป็นหนี้เสีย ในท้ายที่สุดเมื่อปี 2565 มูลหนี้ประมาณ 4 แสนล้านบาท
ส่วนการจะออกประกาศเปลี่ยนกติกาจากเดิมที่ส่งข้อมูลต่อเนื่อง 5ปี และใช้เวลา 3ปีในการลบข้อมูล เช่นกำหนด 4ปีในการส่งข้อมูล 3ปีในการลบข้อมูล หรือ 3ปีในการส่งข้อมูล 3ปีในการลบข้อมูล ก็สามารถทำได้ เพียงให้คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต(ก.ค.) ซึ่งมีผู้ว่าการ ธปท.เป็นประธาน ออกประกาศ ซึ่งทางเครดิตบูโรแจ้งไปยังกระทรวงการคลังและ ธปท.แล้วว่า หากออกคำสั่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็สามารถดำเนินการได้
“แนวคิดการล้างข้อมูลเครดิตบูโร เกิดขึ้นจากความต้องการให้ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าว สามารถขอสินเชื่อใหม่ได้ โดยเจ้าหนี้ใหม่จะไม่เห็นข้อมูลบางส่วน แต่ต้องไม่ลืมว่า ประวัติการผิดนัดชำระหนี้ยังคงมีอยู่กับธนาคารเดิม และมีความเสี่ยงในกรณีที่ลูกหนี้สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินใหม่ได้”นายสุรพลกล่าว
ทั้งนี้ข้อมูลจะต้องถูกส่งมาที่เครดิตบูโร แล้วหากลูกหนี้นำไปลงทุน โดยไม่ได้มีการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้รายเดิม เจ้าหนี้รายเดิมทราบ อาจเกิดการฟ้องร้อง เพื่อเรียกคืนหนี้ได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ปล่อยกู้รายใหม่ ดังนั้นหากมีการล้างประวัติแบล็กลิสต์เครดิตบูโร จึงไม่แน่ใจว่า จะมีลูกหนี้รหัส 21 ได้รับประโยชน์จำนวนเท่าใด
ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว แนวที่ควรดำเนินการคือ ธปท.ลดสัดส่วนเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒฯาระบบสถาบันการเงิน(FIDF) ลงมาจากปัจจุบัน 0.46% เหลือ 0.23%เหมือนช่วงโควิด เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์นำ 0.23% ที่เหลือมาลดดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้ส่วนหนึ่ง ซึ่งคาดว่า จะเป็นเงินประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาท และลูกหนี้จ่ายเองอีกส่วนหนึ่ง อาจกำหนดสัดส่วน 50:50 ก็ได้ จากนั้นจึงมาปรับโครงสร้างให้ยาวขึ้น
“วิธีนี้จะทำให้หนี้เสียกลายเป็นหนี้ดี ถือว่าช่วยกันคนละครึ่งทาง โดยลดสัดส่วนจ่ายเข้ากองทุนฟื้นฟู ซึ่งเปรียบเหมือนหนี้ที่ไม่มีชีวิต เพื่อมาช่วยหนี้ที่มีชีวิตก่อน เมื่อลูกหนี้ได้คืนสถานะหนี้ปกติกลับมา ก็จะสามารถไปยื่นขอสินเชื่อใหม่ได้ โดยอาจเป็นการขอสินเชื่อกับธนาคารของรัฐ โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้”นายสุรพลกล่าว
นายสุรพลกล่าวต่อว่า อีกวิธีคือ อาจเพิ่มสัดส่วนเงินนำส่งของธนาคารพาณิชย์จาก 0.46% เป็น 0.60% กรณีที่ไม่สามารถลดสัดส่วนการส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูได้ โดยส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นมาให้นำไปช่วยลดดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้กลุ่มนี้ในลักษณะเดียวกัน เพราะประเด็นสำคัญคือ การที่ลูกหนี้สามารถกลับมาจ่ายดอกเบี้ยได้ ก็จะกลายเป็นหนี้ปกติ ที่สามารถเข้าสู่การปรับงวดชำระให้ยาวขึ้น หรืออาจช่วยลูกหนี้ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปด้วยพร้อมๆกันได้
“การดำเนินการเช่นนี้สามารถคิดคำนวณออกมาได้ว่า ใน 4.3 ล้านบัญชีนั้น มีดอกเบี้ยจำนวนเท่าไหร่ และสามารถเห็นข้อมูลที่ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งนำส่งเงินเข้าสู่กองทุนฟื้นฟู ก็ให้นำเงินส่วนนี้กระจายลงไปช่วยด้านดอกเบี้ยแก่ลูกหนี้ของตนเอง ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ เพราะการหาวิธีจ่ายหนี้ให้ครบถ้วนนั้นไม่สามารถเป็นไปได้”
นายสุรพลกล่าวทิ้งท้ายว่า หากเทียบสถานการณ์ปัจจุบันกับวิกฤตปี 40 จะเห็นว่า ช่วงนั้นเปรียบเหมือนดาวหางวิ่งชนโลก มีการลดค่าเงินบาท มีการสั่งปิดสถาบันการเงิน ส่งผลให้เงินไม่ลื่นไหล ผู้ประกอบการ นักธุรกิจที่รอเงิน เพื่อมาดำเนินธุรกิจ ก็ไม่สามารถเบิกเงินออกมาได้ กระทบเป็นลูกโซ่ ส่งผลกระทบต่อบริษัทขนาดใหญ่ของ 70-80 ตระกูล
สถานการณ์ต่างกันที่ ลูกจ้าง,คนตัวเล็กตัวน้อยในขณะนั้น ไม่มีหนี้เกาะหลัง ไม่ได้มีหนี้บัตรเครดิต ไม่มีหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ไม่มีหนี้รถยนต์เยอะแยะ เต็มที่ก็มีหนี้บ้าน คนที่ตกงานก็คืนถิ่น เกิดตลาดนัดเปิดท้ายขายของเพื่อหาสภาพคล่องมาจุนเจือครอบครัว
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,009 วันที่ 14 - 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2567