หนี้ครัวเรือนไทย แม้จะชะลอลงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 แต่ล่าสุดไตรมาส 2ปี 2567 ยังทรงตัวในระดับสูงที่ 16.32 ล้านล้านบาทคิดเป็น 89.6%ของจีดีพี และถือเป็นความเปราะบางทางเศรษฐกิจไทย ขณะที่แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังไม่กระจายตัว ส่งผลต่อรายได้ประชาชนรายย่อยและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี(SMEs)
รายงานล่าสุดของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ระบุว่า ยอดคงค้างของเงินให้กู้ของสถาบันการเงิน ไตรมาส 3/67 ขยายตัว 0.20% ชะลอลงจากการขยายตัว 1.00% ในไตรมาสที่แล้ว ตามการลดลงของเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
โดยในระบบธนาคารพาณิชย์ลดลง 1.42% เทียบกับการลดลง 0.48% ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 โดยเงินให้กู้ยืมในภาคธุรกิจลดลง 0.77% เทียบกับการเพิ่มขึ้น 0.08% ในไตรมาสก่อนหน้า
ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของทั้งสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจ SMEs โดยสินเชื่อธุรกิจ SMEs ลดลง 3.28% ต่อเนื่องจากการลดลง 4.78% ในไตรมาสก่อนหน้า
สำหรับเงินให้กู้ยืมภาคครัวเรือนลดลง 2.11% เทียบกับการลดลง 1.08% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของสินเชื่อเพื่อการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ ซึ่งเป็นผลจากภาระหนี้สินภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และคุณภาพสินเชื่อที่ปรับลดลง
"ประกอบกับมาตรฐานการให้สินเชื่อภาคครัวเรือนมีความเข้มงวดมากขึ้นในกลุ่มผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นในทุกประเภทสินเชื่อ"
รัฐบาลจึงอยู่ระหว่างแก้ไขหนี้สินของประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ที่เป็นหนี้เสียไม่เกิน 1 ปี ในกลุ่มหนี้บ้าน หนี้รถ และหนี้เพื่อประกอบอาชีพ เพื่อให้กลุ่มนี้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ และมีกำลังในการชำระหนี้มากขึ้น
โดยจะพักจ่ายดอกเบี้ยให้เป็นระยะเวลา 3 ปี ให้กับกลุ่มลูกหนี้ที่เป็น NPLs มาไม่เกินกว่า 1 ปี โดยจะต้องเป็นหนี้ NPLs ไม่เกินวันที่ 31 ตุลาคม 2567
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) โพสต์เฟซบุ๊กถึงภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทยไตรมาส 3 ปี2567 ภาระหนี้สินภาคครัวเรือนจากสถาบันการเงิน 157 แห่งที่เป็นสมาชิกของเครดิตบูโร
"ครอบคลุมประชาชนคนไทยและผู้มีถิ่นฐานในประเทศไทยที่มีหนี้สินกับสถาบันการเงินสมาชิก ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมประมาณกว่า 30 ล้านคน"
นายสุรพลระบุว่า หนี้ครัวเรือนในระบบเครดิตบูโรอยู่ที่ 13.6 ล้านล้านบาท จากยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยทั้งหมด 16.32 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง 0.2%จากไตรมาสก่อนหน้า
สะท้อนว่า สินเชื่อไม่โต เศรษฐกิจในไตรมาส 3 เติบโต 3% ในช่วง 9 เดือนโต 2.3% ขณะที่สินเชื่อธุรกิจคนตัวเล็ก หดตัว 4.6%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และสินเชื่อเบิกเกินบัญชีหดตัวลง 4.5%
ขณะที่ระดับของ NPLs เป็นไปตามคาด เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.8% ของหนี้รวม 13.6 ล้านล้านบาท ซึ่งพุ่งขึ้นมาชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2566
ก่อนจะพักฐานไตรมาส 4 ปี 2566 แล้วไปต่อตั้งแต่ปี 2567 พร้อมๆ กับมาตรการกลับไปสู่ความเป็นปกติ (normalize) เศรษฐกิจค่อยๆ โตกลับมาอย่างเชื่องช้า มีเรื่องการให้กู้อย่างรับผิดชอบ การแก้หนี้เรื้อรัง แก้หนี้ครบวงจร
“ภาพของเส้นหนี้เสียวิ่งจาก 7.7%ในช่วงเดียวกันปีก่อน สู่ 8.8%วันก่อน IMF แวะมาคุยที่สำนักงาน ก็พยักหน้ากับผลกระทบหลังโควิดและยิ้มอ่อน เมื่อถามถึงตัวเลขความสำเร็จของการแก้หนี้แบบครบวงจรตลอดเส้นทางการเป็นหนี้ โดยเฉพาะแก้หนี้เรื้อรังว่า มีจำนวนกี่บัญชีที่เข้ามาตรการแก้ไขปิดจบ หรือมาตรการ debt consolidation ว่า มียอดทำได้เท่าใด”
ขณะที่หนี้ NPLs ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท โดยประมาณ เติบโตขึ้น 14.1 %จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 3.4%จากไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังดีที่ NPLs สินเชื่อบ้าน รถยนต์ เครดิตคาร์ด สินเชื่อส่วนบุคคลนิ่งๆ หรือโตไม่มาจากไตรมาสก่อน แต่ที่กังวลมากคือ สินเชื่อธุรกิจคนตัวเล็กหรือ SMEs เพิ่มขึ้น 20%จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 5.2%จากไตรมาสก่อนหน้า ถือเป็นประเด็นที่สำคัญมากๆ
หนี้ SM หรือหนี้ที่ค้างชำระระหว่าง 31-90 วัน มียอดคงค้างที่ 4.8 แสนล้านบาทโดยประมาณ ลดลง 3.8%จากไตรมาสก่อนและลดลง 2.6%จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งน่าจะเบาใจขึ้นได้บ้าง
ส่วนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้หลังเป็นหนี้เสียที่เรียกว่าทำ TDR ซึ่งตัวเลขสะสมมาอยู่ที่ 1.03 ล้านล้านบาท คิดเป็น 7.6%ของหนี้ครัวเรือนที่ 13.6 ล้านล้านบาท ที่ไม่ค่อยดีคือ มันอืด ติดลบประมาณ 3%เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในส่วนของ DR หรือปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกันก่อนเป็นหนี้เสีย มียอดสะสมตั้งแต่เมษายน 2567 มาหยุดที่ 1.2 ล้านบัญชี 6.45 แสนล้านบาท
“ทั้งหมดคือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และหลายท่านจะได้นำไปประกอบการพิจารณากับมาตรการแก้หนี้บ้าน หนี้รถยนต์ หนี้ SMEs ที่กำลังจะประกาศความชัดเจนในเร็ววันนะครับ”
แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ ไตรมาส3 ปี2567 จากการรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)พบว่า มีจำนวนรวม 14.48 ล้านล้านบาทลดลง 2.3% จาก 14.81 ล้านล้านบาทเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการติดลบ 2ไตรมาส จากไตรมาส2 ที่ติดลบ 0.2% ถือเป็นการหดตัวรายไตรมาสครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาส4 ปี2552
สำหรับหนี้ NPLs มีจำนวน 519,129 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 24,528 ล้านบาทหรือ 4.96% จาก 494,601 ล้านบาทเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
ส่วนหนี้จัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) มีจำนวน 1.18 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1.06 ล้านล้านบาท เฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภคมีจำนวน 404,139 ล้านบาท ประกอบด้วย
“ภาพเหล่านี้ สะท้อนสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศไตรมาส3 ปีนี้ยังไม่ฟื้น เห็นได้จากทั้งไตรมาส2 และไตรมาส 2 สินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยชะลอตัวทั้งคู่ ส่วนตัวเข้าใจว่า ผู้กู้เองอาจระมัดระวังในการก่อหนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความไม่พร้อมก่อหนี้ก้อนใหม่จากสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลควรที่จะเข้ามาดูแล โดยเฉพาะรายย่อยและ SMEs”
ขณะเดียวกันภาคธุรกิจก็ยังรอสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเช่นกัน ก่อนที่จะมีการลงทุนหรือขยายกิจการ โดยเฉพาะสัญญาณการชำระคืนหนี้เร็วกว่าการเบิกใช้สินเชื่อหรือสินเชื่อที่ปล่อยใหม่
อย่างไรก็ตาม แม้สินเชื่อภาพรวมติดลบ แต่ยังเห็นสินเชื่อที่เติบโตเช่น สินเชื่อบ้านเติบโต 0.4% จาก 0.8% สะท้อนการประคองการเติบโต แต่เป็นการเติบโตชะลอลง หรือสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคอื่นๆ โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีหลักประกัน ซึ่งมาจากฐานที่ต่ำ
หากเทียบรายเดือนสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ สะท้อนการหดตัวต่อเนื่องจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และเห็นการเบิกใช้สินเชื่อหมุนเวียนบางส่วน แม้ว่าสินเชื่อภาคธุรกิจจะชะลอตัวก็ตาม
สำหรับภาพการชะลอตัวของสินเชื่อ 3ไตรมาสที่ผ่านมา (ไตรมาส1 เติบโต 0.9%) ยังสะท้อนภาพติดลบต่อเนื่องในไตรมาส 4 แม้ว่าโมเมนตัมของสินเชื่อบางตัวอาจจะมีปัจจัยเชิงฤดูกาลใช้จ่ายหรือการท่องเที่ยวจะกลับมา เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต อาจจะกลับมาขยับขึ้นไตรมาส4 เมื่อเทียบกับไตรมาส3 แต่เป็นไปได้ว่า ไม่สามารถจะทดแทนหรือล้างการติดลบในช่วงที่ผ่านมาและทั้งปีนี้สินเชื่ออาจจะไม่โต
นอกจากนั้น สถานการณ์ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ยังเห็นการเพิ่มขึ้นอยู่ต่อเนื่อง ทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อย ซึ่งแนวโน้มต้องใช้เวลาในการแก้ไข ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจภาพรวมยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน ดังนั้น ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ แนวโน้มหลายไตรมาสข้างหน้าสินเชื่อโดยรวมจะฟื้นตัวช้า
สอดคล้องกับรายงานผลการสำรวจภาวะและแนวโน้มสินเชื่อไตรมาส 3ปี 2567 ของธปท.ระบุว่า ความต้องการสินเชื่อภาคครัวเรือนปรับลดลงในเกือบทุกหมวดสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อเข้มงวดขึ้น แต่สินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับความต้องการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคทั่วไปที่ปรับเพิ่มขึ้น
สำหรับไตรมาส4 ปี2567 ความต้องการสินเชื่อภาคครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคอื่น โดยใช้เพื่อการบริโภคทั่วไป รวมถึงสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ จากปัจจัยการส่งเสริมการค้าของผู้ประกอบการในช่วงไตรมาส 4
ขณะที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปรับลดลงจากเงื่อนไขประกอบการกู้ยืมและต้นทุนที่อยู่ในระดับสูง จากมาตรฐานการให้สินเชื่อทั้งภาคครัวเรือนมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นสำหรับผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นในทุกประเภทสินเชื่อ
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,047 วันที่ 24 - 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567