น้ำท่ามภาคใต้ ธ.ก.ส.เลื่อนชำระหนี้ไม่เกิน 1ปี

30 พ.ย. 2567 | 02:36 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ย. 2567 | 02:42 น.

ธ.ก.ส.เร่งช่วยเหลือลูกค้า ที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ประกาศเลื่อนเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 1 ปี ไม่คิดดอกเบี้ยปรับ พร้อมออก 2 มาตรการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ ให้กู้รายละ 50,000 บาท ไม่คิดดอกเบี้ยนาน 6 เดือน

นายฉัตรชัย  ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ได้จัดทำมาตรการเร่งด่วนเพื่อดูแลเกษตรกรลูกค้าของธนาคารที่ได้รับความเดือดร้อนและผลผลิตได้รับความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง จนส่งผลกระทบต่อรายได้

นายฉัตรชัย  ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถ เลื่อนระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปสูงสุดไม่เกิน 1 ปี และไม่คิดดอกเบี้ยปรับ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ซึ่งลูกค้าสามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่สาขาในพื้นที่ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 31 มกราคม 2568

ธ.ก.ส. ยังได้จัดทำมาตรการฟื้นฟูและเสริมสภาพคล่องเกษตรกรในพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตประสบภัยโดยผู้ว่าราชการจังหวัด 2 โครงการคือ  

โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ปี 2567/68 เพื่อเสริมสภาพคล่องเกษตรกรในด้านค่าใช้จ่ายทั่วไป เช่น ค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น

  • อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 6 เดือนแรก
  • เดือนที่ 7 คิดอัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.875% ต่อปี)
  • วงเงินให้กู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท
  • ผ่อนชำระนานสูงสุดไม่เกิน 3 ปี

โครงการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นค่าลงทุนในการซ่อมแซมบ้านเรือนและทรัพย์สิน ค่าซ่อมเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรรอบใหม่

  • วงเงินรายละไม่เกิน 500,000 บาท
  • อัตราดอกเบี้ย MRR - 2 % ต่อปี
  • ผ่อนชำระนานสูงสุดไม่เกิน 15 ปี

“ลูกค้าธ.ก.ส.สามารถแจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่ ธ.ก.ส. สาขาใกล้บ้านท่านหรือสอบถาม รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02 555 0555 ตลอด 24 ชั่วโมง”

น้ำท่ามภาคใต้ ธ.ก.ส.เลื่อนชำระหนี้ไม่เกิน 1ปี

ทั้งนี้ ธนาคารพร้อมเข้าไปดูแลและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยจัดหาถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ดังกล่าวโดยทันที และหลังจากน้ำลดจะออกสำรวจความเสียหายของลูกค้าเพื่อรวบรวมข้อมูลในการวางแนวทางการช่วยเหลืออย่างตรงจุดต่อไป สำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยดังกล่าว