คาด กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.25% ส่งท้ายปี67

18 ธ.ค. 2567 | 00:37 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ธ.ค. 2567 | 00:37 น.

กูรูฟันธง กนง.ครั้งสุดท้ายของปี คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.25%  หลังสัญญาณเศรษฐกิจดีขึ้น จากภาคส่งออก มาตรการกระตุ้นภาครัฐ รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณ จับตานโยบายทรัมป์ 2.0 กระทบการค้าระหว่างประเทศ

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ครั้งสุดท้ายของปีในวันที่ 18 ธันวาคม 2567 เป็นที่จับตาว่า จะลดดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องหรือไม่

หลังการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อ 16 ตุลาคม 2567 กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากระดับ 2.50% เป็น 2.25% ต่อปี เพื่อบรรเทาภาระหนี้บางส่วน พร้อมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ที่ 2.7% และ 2.9% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน  

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายสำนักพยากรณ์ปรับมุมมองเชิงบวกต่อเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ทยอยออกมาค่อนข้างดี ส่วนใหญ่จึงปรับมุมมองต่อท่าที “กนง.”จะ “คง”อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25%ต่อปีในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวตอนหนึ่งในงานเปิดตัว โครงการ “คุณสู้ เราช่วย”ว่า เริ่มเห็นแสงสว่างจากทิศทางเศรษฐกิจไทย หลังจากก่อนหน้า ที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาวะซึมเซาเติบโตไม่ดีเท่าที่ควรหรือเติบโตอย่างมีข้อจำกัดด้วยปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ตาม ไตรมาส3 ที่ผ่านมา เริ่มเห็นตัวเลขเศรษฐกิจ(จีดีพี) ขยายตัว 3.0% คิดว่า ไตรมาส4 จะเห็นตัวเลขจีดีพีใกล้ 4%หรือ 4%บวกลบ ซึ่งเมื่อรวมทั้งปีแล้ว น่าจะเห็นจีดีพีปีนี้ที่ 2.8% ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัว 1.9% ในปีที่ผ่านมา หรือจะเห็นอัตราการเพิ่มขึ้นถึง 40-50%

"สำหรับตัวเลขพยากรณ์จีดีพีปีหน้า มองว่าจะเห็นตัวเลข 3%ต้นๆ แต่ส่วนตัวผมฝันไปไกลถึง  3.5% ส่วนจะเป็นระดับ 3.5%หรือน้อยกว่าขึ้นอยู่กับสิ่งที่จะทำต่อไป"

สอดคล้องกับดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยช่วงโค้งท้ายปีนี้หรืออย่างน้อยถึงไตรมาส2 ปีหน้ายังมีโมเมนตัมพอสมควร จากภาคส่งออกที่จะได้อานิสงก์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ตามวัฎจักรของโลก

คาด กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.25% ส่งท้ายปี67

ทั้งนี้ การส่งออกของไทยน่าจะเติบโตต่อเนื่องได้ถึงไตรมาสแรกปีหน้า ขณะที่นโยบายกำแพงภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์นั้น ตลาดคาดการณ์ว่า กว่าจะเห็นผลน่าจะกลางปีหน้า ดังนั้นครึ่งแรกของปีน่าจะเห็นการเร่งนำเข้าและน่าจะเห็นเศรษฐกิจไทยยังดีอยู่ 

ประกอบกับตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วงต้นปีหน้าคาดว่า จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ดังนั้นเรามองโค้งสุดท้ายของปีนี้และอาจจะยาวไปไตรมาส 1 และ 2ของปีหน้า เศรษฐกิจไทยยังมีโมเมนตัมประคองตัวต่อไปได้

“เดิมเราคาดว่า เศรษฐกิจปีนี้จะชะลอตัวและกนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง โดยคาดว่า ดอกเบี้ยนโยบายจะกลับลงไปอยู่ที่ 2.0% ในสิ้นปีนี้ แต่ด้วยภาวะและสัญญาณที่ดีขึ้น จากปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลายตัวที่ออกมาค่อนข้างดีกว่าที่คาดพอสมควร ทั้งภาคส่งออก การเบิกจ่ายภาครัฐ จึงน่าจะเป็นแรงหนุนให้ตัวเลขจีดีพีออกมาดีกว่าที่เราคาดไว้” 

ทั้งนี้ Krungthai COMPASS คาดว่า จีดีพีปีนี้จะขยาย 2.8% โดยไตรมาส4 น่าจะเห็นจีดีพีใกล้ 4% ส่วนการส่งออกตัวเลขใกล้ 4% ด้วยภาวะที่ดีขึ้นนี้ ทำให้มองว่ากนง.ไม่น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม คาดว่า กนง.จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25%ต่อปี และปีหน้า จึงจะเห็นกนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 

อย่างไรก็ตาม ครึ่งแรกปีหน้ายังเต็มไปด้วยความผันผวนจากความเสี่ยงการดำเนินนโยบายของสหรัฐอเมริกา แม้ผลกระทบจะโผล่ครึ่งหลังของปีหน้า แต่ครึ่งปีแรกจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเรื่องนโยบายการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเนื่องจากการดำเนินนโยบายทรัมป์ 2.0 และต้องเตรียมตัวจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น 

ซึ่งจากการติดตามหลายสำนักพยากรณ์ต่างคาดการณ์ว่า กว่านโยบายทรัมป์จะส่งผลต้องใช้เวลาราว 6 เดือน แต่ระหว่างทางในครึ่งปีแรกจะมีการสื่อสารออกมาอย่างเข้มข้น สำหรับทิศทางค่าเงินบาทในช่วงสั้น 2-3เดือนข้างหน้าคาดว่า ยังไม่มีประเด็นใหม่ๆเข้ามา โดยจะเห็นการเคลื่อนไหวของเงินบาทอยู่ในกรอบ 33-34 บาทต่อดอลลาร์

“ครึ่งปีแรก เรื่องการค้าระหว่างประเทศจะเป็นประเด็นหลักต้องติดตามใกล้ชิด ส่วนทิศทางปีหน้าหลายสำนักคาดการณ์การส่งออกไทยอาจจะเติบโตราว 1-2%คือ หายไปครึ่งหนึ่งจากปีนี้ที่โต 4% ดังนั้นแนวโน้มการส่งออกจะเติบโตลดลงและเป็นความเสี่ยงที่สำคัญในปีหน้า” 

ดร.ลลิตา เธียรประสิทธิ์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวว่า คาดว่า กนง. มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25% โดยมติไม่เป็นเอกฉันท์ เนื่องจากภาพความเสี่ยงต่างๆ ในปัจจุบันไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมเท่าใดนัก ประกอบกับทิศทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2567 คาดว่า จะขยายตัวเร่งขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากฤดูกาลท่องเที่ยวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐ 

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าส่วนงานกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า รอบที่แล้ว กนง.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงด้วยความจำเป็นของเศรษฐกิจที่แบกรับต้นทุนทางการเงินสูง

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าส่วนงานกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด(มหาชน)

ดังนั้นรอบนี้คาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยจะรอความชัดเจนนโยบายการคลังก่อน 

อย่างไรก็ตาม หากจะให้มีประสิทธิภาพควรจะลดดอกเบี้ยนโยบายควบคู่กับการเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจและมองปีหน้าดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสจะลดเหลือ 1.50%ต่อปี โดยอาจจะเห็นกนง.ลดดอกเบี้ยหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ลดดอกเบี้ยแล้ว หรือทิศทางค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วผิดปกติ ซึ่งแนวโน้มค่าเงินบาทนั้นคาดว่า จะปิดตลาดปลายปีแข็งค่าที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ 

ทั้งนี้ด้วยปัจจัยเชิงโครงสร้างของไทย ส่วนตัวมองว่า การจะใช้นโยบายการเงินควบคู่กับนโยบายการคลังเป็นเรื่องที่ควรเกิดขึ้น คือ หากนโยบายการคลังมีความชัดเจนและมีนัยยะสำคัญออกมาได้จริง การใช้นโยบายการเงินหรือควรลดดอกเบี้ยนโยบายพร้อมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเพิ่มความแรงทั้งคู่ แต่ตอนนี้นโยบายการคลังยังไม่พร้อม 

“คาดว่า กนง.จะรอดูความชัดเจนของนโยบายการคลังก่อน เพราะหากกนง.ลดดอกเบี้ยไปแล้ว ปีหน้าไม่มีนโยบายการคลังที่มีนัยยะต่อเศรษฐกิจ เท่ากับการลดดอกเบี้ยนโยบายลงก็สูญเปล่าไม่ได้ช่วยอะไร”

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,054 วันที่ 19 - 21 ธันวาคม พ.ศ. 2567