ITD ส่งงบปี 66 ขาดทุนลดเหลือ 1,072 ล้าน เหตุกำไรจากขายทรัพย์สิน 2,249 ล้าน

29 มี.ค. 2567 | 00:33 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มี.ค. 2567 | 03:47 น.

ผิดคาด! อิตาเลียนไทย (ITD) งบการเงินปี 2566 ขาดทุนสุทธิ 1,072.36 ล้าน ลดลงกว่า 77% จากปี 2565 ที่ขาดทุน 4,758.85 ล้าน เหตุมีกำไรจากการจำหน่ายทรัพย์สิน 2,249 ล้าน แม้รายได้บริการรับเหมาก่อสร้างจะลดลง 2,719 ล้านบาท ด้าน “ผู้สอบบัญชี” งดแสดงความคิดเห็น

นางนิจพร จรณะจิตต์ กรรมการรองประธานบริหารอาวุโส บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD แจ้งผลดำเนินงานของบริษัทงบการเงินประจำปี 2566 ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิปี 2566 อยู่ที่ 1,072.36 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้นอยู่ที่ 0.2031 บาท จากปี 2565 ที่ขาดทุนสุทธิ 4,758.85 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.9013 บาท  และเมื่อเทียบปี 2565 ขาดทุนลดลดจำนวน 3,686.49 ล้านบาท หรือขาดทุนลดลง 77.46% 

บริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการรับเหมาก่อสร้างในปี 2566 จำนวน 56,936 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 2,719 ล้านบาท เนื่องจากการลดลงของรายได้จากการให้บริการก่อสร้างของโครงการที่ใกล้แล้วเสร็จ อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางจิระ สัญญา 3 งานอุโมงค์รถไฟ โครงการอาคารโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม 

รวมถึงการปรับปรุงรายได้จากการให้บริการก่อสร้างเนื่องจากต้นทุนในการให้บริการรับเหมาก่อสร้างบางรายการ ยังไม่ส่งมอบบริการให้แก่ลูกค้า ทำให้ยังไม่สามารถรับรู้เป็นรายได้จากการให้บริการก่อสร้าง และปรับปรุงต้นทุนดังกล่าวเป็นสินทรัพย์ต้นทุนการทำงานให้เสร็จสิ้นตามสัญญา (อาทิค่าโครงสร้างชั่วคราว ค่าโครงสร้างงานรากฐาน ค่าบริหารสาธารณูปโภค-สิ่งแวดล้อม ค่าใช้จ่ายช่วงเตรียมงาน เป็นต้น)

 

ITD ส่งงบปี 66 ขาดทุนลดเหลือ 1,072 ล้าน เหตุกำไรจากขายทรัพย์สิน 2,249 ล้าน

รายได้จากการขายและให้บริการ ในปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและให้บริการ จำนวน 6,806 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 986 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลดลงของรายได้จากการให้บริการโครงการเหมืองแร่

ต้นทุนในการให้บริการรับเหมาก่อสร้าง ในปี 2566 บริษัทฯ มีต้นทุนในการให้บริการรับเหมาก่อสร้าง จำนวน 52,903 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 5,052 ล้านบาท เนื่องจากการลดลงของต้นทุนในการให้บริการรับเหมาก่อสร้างของโครงการที่ใกล้จะแล้วเสร็จ รวมถึงการปรับปรุงต้นทุนในการให้บริการรับเหมาก่อสร้างบางรายการเป็นสินทรัพย์ต้นทุนการทำงานให้เสร็จสิ้นตามสัญญา

ต้นทุนในการขายและให้บริการในปี 2566 บริษัทฯ มีต้นทุนในการขายและให้บริการ จำนวน 6,850 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 57 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเนื่องจากบริษัทย่อยบางแห่งมีการขายสินค้าและให้บริการเพิ่มขึ้นจึงมีต้นทุนเพิ่มขึ้น

ขณะที่กำไรขั้นต้นในปี 2566 บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้น จำนวน 3,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรขั้นต้น จำนวน 2,699 ล้านบาท และมีอัตรากำไรขั้นต้นในปี 2566 เท่ากับร้อยละ 6.26 เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่มีอัตรากำไรขั้นต้น เท่ากับร้อยละ 4.00 เนื่องจากการกำไรเพิ่มขึ้นของบริษัทย่อยบางแห่ง รวมถึงการลดลงของผลขาดทุนจากการให้บริการก่อสร้างในต่างประเทศ

ด้านเงินปันผลรับและส่วนแบ่งกำไรในกิจการร่วมค้า ในปี 2566 บริษัทฯ มีเงินปันผลรับและส่วนแบ่งกำไรในกิจการร่วมค้า จำนวน 3 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 3 ล้านบาท

ดอกเบี้ยรับในปี 2566 บริษัทฯ มีดอกเบี้ยรับ จำนวน 224 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 78 ล้านบาท ที่ส่วนใหญ่เป็นดอกเบี้ยรับของบริษัทย่อย และสาขาในต่างประเทศ

กำไรจากการตีราคาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน ในปี 2566 บริษัทฯ ไม่มีกำไรจากการตีราคาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน ลดลดจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรจากการตีราคาอสังหาริมทรัพย์เป็นจำนวน 184 ล้านบาท

กำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ 2,249 ล้านบาท

กำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ ในปี 2566 บริษัทฯ มีกำไรจากการจำหน่ายทรัพย์สิน จำนวน 2,249 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 2,249 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกำไรจากการขายทรัพย์สินที่ไม่ใช้ในการดำเนินงาน

กำไรจากการป้องกันความเสี่ยง ในปี 2566 บริษัทฯ ไม่มีกำไรจากการป้องกันความเสี่ยง ลดจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรจากการป้องกัน ความเสี่ยงเป็นจำนวน 28 ล้านบาท

รายได้อื่นในปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้อื่น จำนวน 561 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 91 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเพิ่มขึ้นจากรายได้ค่าที่ปรึกษา ค่าบริหารโครงการ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของรายได้อื่นในกิจการร่วมค้า และบริษัทย่อยบางแห่ง

ค่าใช้จ่ายในการขาย ในปี 2566 บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายในการขาย จำนวน 42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 5 ล้านบาท ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมการขายของบริษัทย่อย

ค่าใช้จ่ายในการบริหาร ในปี 2566 บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายในการบริหาร จำนวน 3,124 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 252 ล้านบาท ส่วนใหญ่เนื่องจากการลดลงของการขาดทุนทางบัญชีจากการขายสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้งานในปีก่อนหน้า

ค่าเผื่อผลขาดทุนจากการด้อยค่า ในปี 2566 บริษัทฯ มีค่าเผื่อผลขาดทุนจากการด้อยค่า จำนวน 117 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 49 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนจากการด้อยค่าของบริษัทย่อยแห่งหนึ่งในต่างประเทศ

ขาดทุนจากการจำหน่ายเงินลงทุน ในปี 2566 บริษัทฯ ไม่มีการขาดทุนจากการจำหน่ายเงินลงทุน ขาดทุนลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 1 ล้านบาท

ขาดทุนจากการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน ในปี 2566 บริษัทฯ ขาดทุนจากการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน จำนวน 65 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 65 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้งานของบริษัทย่อย

ขาดทุนจากการตีราคาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน ในปี 2566 บริษัทฯ ขาดทุนจากการตีราคาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน จำนวน 53 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 53 ล้านบาท เนื่องจากผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจากอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนลดลง

ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ในปี 2566 บริษัทฯ ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 103 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 80 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเนื่องจากการขาดทุนจากการแข็งค่าของค่าเงินบาทในสินทรัพย์ของบริษัท

ขาดทุนจากการวัดมูลค่ายุติธรรมของตราสารอนุพันธ์ ในปี 2566 บริษัทฯ ขาดทุนจากการวัดมูลค่ายุติธรรมของตราสารอนุพันธ์ จำนวน 0.05 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 12 ล้านบาท

ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม บริษัทที่ควบคุมร่วมกัน และกิจการร่วมค้า ในปี 2566 บริษัทฯ มีส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม บริษัทที่ควบคุมร่วมกัน และกิจการร่วมค้า จำนวน 270 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 858 ล้านบาท การขาดทุนในงวดนี้ส่วนใหญ่เนื่องจากการขาดทุนของบริษัทที่ควบคุมร่วมกันแห่งหนึ่งซึ่งขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากหนี้สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศ

ต้นทุนทางการเงิน ในปี 2566 บริษัทฯ มีต้นทุนทางการเงิน จำนวน 2,990 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 484 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย รวมถึงการมีเงินกู้ยืมระยะยาวเพิ่มขึ้น

ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ ในปี 2566 บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ จำนวน 684 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 14 ล้านบาท ส่วนใหญ่เนื่องจากภาษีเงินได้ของสาขาและกิจการร่วมค้าบางแห่งในต่างประเทศลดลง

จากที่กล่าวข้างต้น ในปี 2566 บริษัทฯ มีการแบ่งปันขาดทุนสำหรับปี ส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท จำนวน 1,072 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 3,686 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สำหรับงบการเงินที่ ITD ส่งมาล่าสุดของปี 2566 ปรากฏว่า ผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบงบการเงิน แต่ไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินดังกล่าว ด้วยเหตุที่ได้พิจารณาถึงสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานต่อเนื่องของกลุ่มบริษัทฯ และบริษัทฯ โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

ตามหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 1.2 ระบุว่า สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 กลุ่มบริษัทและบริษัทฯ มีขาดทุนหลังภาษีจำนวน 421.54 ล้านบาท และ 194.87 ล้านบาท ตามลำดับ และมีขาดทุนสะสมจำนวน 6,426.67 ล้านบาท และ 5,390.66 ล้านบาท ตามลำดับ (2565: 4,475.58 ล้านบาท และ 3,622.58 ล้านบาท ตามลำดับ)

อีกทั้งมีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนจำนวน 26,711.54 ล้านบาท และจำนวน 29,977.68 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งหนี้สินหมุนเวียนส่วนใหญ่

ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นจากตั๋วสัญญาใช้เงิน และทรัสต์รีซีต/เลตเตอร์ออฟเครดิต และเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินที่ถูกจัดประเภทเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น หุ้นกู้และหุ้นกู้ที่ถูกจัดประเภทเป็นหุ้นกู้ที่จะถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปี

โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 บริษัทฯ ไม่สามารถปฎิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้ในเรื่องการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นซึ่งคำนวณจากงบการเงินรวมที่ถูกกำหนดไว้ในสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงินบางแห่ง

จากการผิดเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ดังกล่าวข้างต้น สถาบันการเงินมีสิทธิเรียกชำระคืนเงินกู้ยืม ทั้งนี้ ธนาคารไม่ได้ดำเนินการในลักษณะดังกล่าว นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้รับหนังสือจากสถาบันการเงินให้ความยินยอมและผ่อนผันเงื่อนไขในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567และ วันที่ 18 มีนาคม 2567

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่ากลุ่มบริษัทและบริษัทฯ อยู่ในระหว่างการดำเนินการตามแผนการดำเนินงานธุรกิจและกลยุทธ์ทางการเงินเพื่อให้เชื่อมั่นได้ว่ากลุ่มบริษัทและบริษัทฯ จะมีสภาพคล่องอย่างเพียงพอและมีความสามารถในการชำระหนี้เมื่อครบกำหนดและดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

แต่ปัจจัยในด้านสภาพคล่องของกลุ่มบริษัทและบริษัทฯ ขึ้นอยู่กับการเรียกใช้สิทธิในการเรียกให้ชำระคืนเงินกู้ยืมของธนาคารและหุ้นกู้ ความสำเร็จในการดำเนินการตามแผนดังกล่าว การจัดหาแหล่งเงินทุนอื่นเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการดำเนินงาน การปรับปรุงแผนธุรกิจและการดำเนินงานในอนาคต และความสามารถในการจ่ายชำระเงินกู้ยืมและหุ้นกู้ได้ตามวันครบกำหนดใหม่

รวมถึงการสนับสนุนของวงเงินสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง และการเจราจาเรียกเก็บเงินค่าก่อสร้างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับการลงทุนในหลายโครงการ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวข้างต้นแสดงถึงความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญหลายประการซึ่งอาจมีความสัมพันธ์กันและมีความเป็นไปได้ที่จะมีผลกระทบต่องบการเงินเพิ่มขึ้นจนเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของกลุ่มบริษัทและบริษัทฯ

ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นงบปี 2566

บริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงว่า การที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการของกลุ่มบริษัทและบริษัทฯ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31ธันวาคม 2566 ไม่ได้มีสาเหตุจากการถูกจำกัดขอบเขตโดยผู้บริหาร หรือผิดมาตรฐานการบัญชีไทย แต่เกิดจากผลกระทบต่อความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญตามสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น

ทั้งนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนการธุรกิจและกลยุทธ์ทางการเงินเพื่อให้เชื่อมั่นได้ว่ากลุ่มบริษัทและบริษัทฯ จะมีสภาพคล่องอย่างเพียงพอ และมีความสามารถในการชำระหนี้เมื่อครบกำหนดและดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวทางการดำเนินการที่สำคัญ ดังนี้

1. เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 บริษัทฯ ได้จัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ทั้งหมด 5 รุ่น ได้แก่ ITD242A, ITD24DA, ITD254A, ITD266A และ ITD24DB ซึ่งมียอดเงินต้นค้างชำระรวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 14,445 ล้านบาท

โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ ขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้แต่ละรุ่นออกไปอีก 2 ปีนับจากวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เดิม รวมถึงเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินรวมข้อ 49.1

ทั้งนี้ เมื่อมีการขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้แต่ละรุ่นออกไปอีก 2 ปีนับจากวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เดิมแล้ว หนี้สินหมุนเวียนของบริษัทฯ ที่ถึงกำหนดชำระใน 1 ปี ในไตรมาสหนึ่งของปี 2567จะลดลง

นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ทั้ง 5 รุ่นได้มีมติอนุมัติผ่อนผันการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดสิทธิ โดยให้มีผลตั้งแต่วันสิ้นสุดรอบปีบัญชี 2566จนถึงวันสิ้นสุดรอบปีบัญชี 2568และ ผ่อนผันให้ผู้ออกหุ้นกู้ดำเนินการเจรจาหรือเข้าทำสัญญาใด ๆ กับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้โดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิ

2. บริษัทฯ ได้ขอผ่อนผันเงื่อนไขเกี่ยวกับการดำรงสัดส่วนทางการเงินกับสถาบันการเงินบางแห่งและได้รับการผ่อนผันการปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวจากธนาคารแล้ว

โดยบริษัทฯ ได้รับหนังสือแจ้งอนุโลมการปฏิบัติเงื่อนไขดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 และ 18 มีนาคม 2567 ตามที่ได้กล่าวถึงในหมายเหตุประกอบงบการเงินรวมข้อ 49.2 ซึ่งจากการไม่สามารถดำรงสัดส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นดังกล่าว สถาบันการเงินสถาบันการเงินมีสิทธิเรียกชำระคืนเงินกู้ยืม แต่สถาบันการเงินไม่ได้ดำเนินการในลักษณะดังกล่าว

ดังนั้น การไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเรื่องการดำรงสัดส่วนทางการเงินดังกล่าวจึงไม่เป็นเหตุให้บริษัทฯปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญากู้ยืมเงินกับสถาบันการเงิน อนึ่ง บริษัทฯ มีแนวทางการจัดการปัญหาการขาดสภาพคล่อง

แบงก์เริ่มทยอยปล่อยสินเชื่อแล้ว

โดยบริษัทฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการเจรจาข้อตกลงกับกลุ่มเจ้าหนี้ธนาคารหลักเพื่อขอรับการสนับสนุนด้านสินเชื่อทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว เพื่อให้บริษัทฯ สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันบริษัทฯ ทยอยได้รับสินเชื่อมาบางส่วนแล้ว และคาดว่าบริษัทฯ และกลุ่มเจ้าหนี้ธนาคารหลักจะตกลงเรื่องสัญญาการให้สินเชื่อจนเสร็จสิ้นเรียบร้อยเพื่อให้บริษัทฯ สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องต่อไป

3. บริษัทฯ อยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนระบบการท างานและระบบควบคุมเพื่อลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเพื่อให้บริษัทฯ มีความสามารถในการแข่งขันและมีกำไรจากผลการดำเนินงานโดยมีการกำหนดเป้าหมายชัดเจน และมีการรายงานผลประจำทุกเดือน และมีแผนการขายสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้ในการดำเนินงานเพื่อลดภาระหนี้ของบริษัทฯ

4. บริษัทฯ เชื่อมั่นในศักยภาพและโอกาสที่จะได้รับงานโครงการก่อสร้างขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ที่ทางภาครัฐและเอกชนอยู่ระหว่างการประกาศจัดซื้อจัดจ้าง เป็นจำนวนมาก ได้แก่ งานสร้างถนน ทางด่วน รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง การขยายสนามบิน

ทั้งในปริมณฑลกรุงเทพและต่างจังหวัดหลัก เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ เป็นต้น เนื่องจากบริษัทฯ มีประสบการณ์และผลงานในอดีตที่สามารถแข่งขันได้ทุกประเภท

ดังนั้น บริษัทฯ จึงเชื่อมั่นว่าหากบริษัทฯ ได้รับงานโครงการก่อสร้างจากภาครัฐและภาคเอกชนดังกล่าว บริษัทฯ ก็จะสามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง