คปภ.จ่อออกประกาศ กำกับความเสี่ยงด้าน IT-AI

29 พ.ย. 2567 | 06:56 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ย. 2567 | 06:56 น.

คปภ.เผยธุรกิจประกันโตโต่อเนื่อง เบี้ยประกันเฉลี่ย 9.4 แสนล้านบาทต่อปี สินทรัพย์ลงทุนรวม 4 ล้านล้านบาท จับตาประกันสุขภาพ คาดปีนี้โต 8% จ่อออกประกาศกำกับความเสี่ยงด้าน IT-AI ของกลุ่มประกันภัยปีหน้า หวั่นคิดเบี้ยไม่เป็นธรรม

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จัดสัมมนาวิชาการด้านการประกันภัย ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “สร้างโอกาสใหม่แห่งการประกันภัยด้วยเทคโนโลยี เพื่อคุ้มครองชีวิตและสุขภาพอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คปภ.เปิดเผยว่า ธุรกิจประกันภัยไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากภาพรวมเบี้ยประกันภัยที่ 9.4 แสนล้านบาทต่อปี เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของประเทศที่ประมาณ 18 ล้านล้านบาท และมีสินทรัพย์ลงทุนรวมทั้งธุรกิจประกันภัยและวินาศภัยประมาณ 3.6-4.0 ล้านล้านบาท

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คปภ.

"ธุรกิจประกันภัยถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างขีดความสามารถกับเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำให้กับคุณภาพชีวิตของประชาชน" 

อย่างไรก็ตาม แม้ปีที่แล้วธุรกิจประกันภัยจะเติบโตแค่ 2.7% สอดคล้องกับการเติบโตของจีดีพีของประเทศ แต่มีเบี้ยรับเติบโตกว่า 9.4 แสนล้านบาท โดยธุรกิจประกันสุขภาพเป็นที่จับตาอย่างมาก คาดว่าปีนี้จะเติบโตในอัตรา 8% บางปีเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักหรือกว่า 10%

โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสมบูรณ์(Super Age Society) ซึ่งมีผู้สูงอายุเกิน 20% ของประชากรและคนไทยมีอายุยืนมากยิ่งขึ้น เพราะเทคโนโลยีต่างๆพัฒนามากขึ้น

“การเติบโตของธุรกิจประกันภัยอยู่ที่ 3.0-5.0%ต่อปี ซึ่งคปภ.สนับสนุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อควบคุมความเสี่ยงไม่ให้สินไหมโตกว่าค่าเบี้ยประกันภัย ขณะที่คปภ.ร่วมกับธุรกิจประกันปรับปรุงเงื่อนไขการประกันสุขภาพให้อยู่ตลอดอายุสัญญาและยังเห็นการขยายฐานการคุ้มครองถึง 99ปี”

ทั้งนี้คปภ.เห็นความสำคัญและสร้าง Big DATA โดยร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัยพัฒนาระบบฐานข้อมูลการประกันชีวิต (Life Insurance Bureau System : IBS) โดยนำเทคโนโลยี่และพัฒนาปัญญาประดิษฐ์(AI ) นำมาใช้ในการดำเนินงาน

และในอีก 2-3ปีข้างหน้าคาดว่า ฐานข้อมูล IBS ขนาดใหญ่ของภาคธุรกิจประกันภัยจะแล้วเสร็จและใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลร่วมกันภายใต้กฎหมาย/พระราชบัญญัติ คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA  

“เราเชื่อว่า นวัตกรรมต่างๆจะเป็นตัวช่วยธุรกิจประกันภัย นอกจากเป็นศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจประกันภัยและเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ในการให้ข้อมูลและเป็นศูนย์ฝึกอบรมแล้ว"

ทั้งนี้ ในเร็วๆนี้ จะเปิดตัว Insure Mall ซึ่งจบทุกเรื่องประกันภัย จบทุกความต้องการ ซึ่ง Insure Mall จะเป็นช่องทางสำคัญที่ให้บริการประชาชนผู้สนใจผลิตภัณฑ์ประกันภัยสามารถเข้าถึงได้อย่างครบถ้วนในช่องทางเดียว

เบื้องต้น แม้ยังไม่ได้เปิดตัวเป็นทางการ แต่มีบริษัทประกันภัย บริษัทประกันชีวิตและนายหน้าเข้าร่วมกว่า 50 บริษัทแล้ว ซึ่ง Insure Mall จะเป็นช่องทางสำคัญที่ให้บริการประชาชนผู้สนใจผลิตภัณฑ์ประกันภัยสามารถเข้าถึงได้อย่างครบถ้วนในช่องทางเดียว สร้างประสบการณ์ที่ดีในการเลือกซื้อประกันภัยจากประกันวินาศภัย ประกันชีวิตและธนาคาร 

สำหรับหัวข้อ “Future Landscape in Digital Insurance” โดยดร.ชญานิน เกิดผลงาม รองเลขาธิการ ด้านกลยุทธ์และเทคโนโลยี คปภ.กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจประกันภัย ไตรมาส3 ปี2567 แม้จะเติบโตใกล้เคียงกับจีดีพี แต่มีความผันผวน

ดร.ชญานิน เกิดผลงาม รองเลขาธิการ ด้านกลยุทธ์และเทคโนโลยี คปภ.

ในส่วนของธุรกิจประกันชีวิตเติบโตไม่ถึง 3.0% จากไตรมาส2 เติบโตกว่า 4.0% ซึ่งมาจากการขายประกันชีวิตเป็นหลักจากก่อนหน้ามีการขายประกันแบบสะสมทรัพย์ค่อนข้างมาก แม้ยังเห็นการเติบโต แต่เป็นการให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตมากขึ้น 

ที่น่าสนใจคือ ประกันสุขภาพในธุรกิจประกันชีวิตปีนี้เติบโต 11% มูลค่าพอร์ตเติบโตเป็นแสนล้านบาท สะท้อนการเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 2 เพราะประกันสุขภาพเป็นทั้งเรื่องปัจจุบันและอนาคต ท่ามกลางสังคมอยู่สูงอายุ นอกจากนี้ประกันภัยแบบบำนาญ ซึ่งให้ความคุ้มครองรายได้หลังเกษียณ ซึ่งคปภ. พยายามจะผลักดัน เพื่อให้เป็นหลักประกันและวางแผนให้กับประชาชน 

ส่วนประกันวินาศภัยเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจ แต่หดตัวเล็กน้อย จากการหดตัวของประภัยภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ เพราะตลาดรถยนต์ในไตรมาส3 หดตัวกว่า 20% จึงส่งผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจประกันภัย

แต่ในส่วนของการประกันภัยแบบฝังตัวหรือ embedded insurance เติบโตในอัตรา 4-5% เป็นการประกันภัยที่ฝังตัวไปกับการใช้ชีวิตของคน เช่น การขายประกันอุปกรณ์ประเภทอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆสูงขึ้น หรือเสนอขายประกันภัยผ่านอีมาร์เก็ตเพลสขนาดใหญ่

"ตลาดในไทย มีแนวโน้มเติบโตไปในทิศทางเดียวกับตลาดโลกและประกันการท่องเที่ยว/การเดินทาง ซึ่งเป็นความหวังทั้งในปีนี้และปีหน้า" 

ดร.ชญานินกล่าวถึงความท้าทายของธุรกิจประกันว่า ความต้องการโปรดักต์ที่เป็นการเฉพาะบุคคลมากขึ้น,ภาวะสงคราม ,ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาลง โดยเริ่มเห็นธุรกิจประกันชีวิตหลายบริษัทตื่นตัว ปรับพอร์ตการลงทุน รวมถึงความเสี่ยงที่จะตามมาจากการนำเทคโนโลยีและ AI มาใช้ในการพัฒนาโปรดักต์และการทำตลาดมากขึ้น  

สำหรับประเทศไทย ส่วนใหญ่ยังใช้เทคโนโลยีสำหรับการเคลมเป็นหลัก คาดว่า อีก 1-2ปีจะนำมาใช้มากขึ้น ซึ่งคปภ.จะต้องมีการกำกับดูแลให้การใช้เทคโนโลยี/AI อย่างรับผิดชอบ และบริษัทเองต้องมีการควบคุมความเสี่ยงจากการใช้ AIด้วย นอกจากนี้ความท้าทายจากการเปิดบริการร่วมกับภาคส่วนด้านข้อมูล สำหรับ Open DATA 

นอกจากนี้ ในปีหน้าจะออกประกาศแนวปฎิบัติในการใช้ AI อย่างรับผิดชอบ ไม่เลือกปฎิบัติ เพราะในต่างประเทศเริ่มเกิดปัญหาว่า สิ่งที่บริษัทเริ่มนำ AI มากำหนดค่าเบี้ยนั้นเป็นธรรมหรือไม่ ดังนั้นส่วนกำกับเรื่องแนวปฎิบัติด้านข้อมูล จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งการวางเฟลมเรื่อง AI Governance ต้องทำให้เกิดในปีหน้า

ดร.จุฑาทอง จารุมิลินท ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.)กล่าวว่า ความเสี่ยงธุรกิจประกันภัยในระยะข้างหน้า นอกจากนโยบาย Trump 2.0 ที่จะทำให้เกิดความไม่แน่นอน จากนโยบาย Trump 2.0/America First ซึ่งมุ่งดูแลการจ้างงานของคนสัญชาติอเมริกัน พยายามดึงดูดบริษัทอเมริกันที่ตั้งอยู่นอกประเทศหรือดึงดูดบริษัทต่างประเทศกลับมาสหรัฐอเมริกา

ดร.จุฑาทอง จารุมิลินท ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.)

ยังมีความเสี่ยงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบบซ้อน 3  ดังนั้นเศรษฐกิจไทยย่อมจะมีผลกระทบและรวมถึงธุรกิจประกันภัยที่ต้องพิจารณาเรื่องความเสี่ยงหรือภัยต่างๆ โดยนำมาคำนวณในการสร้างโปรดักต์ รวมถึงความเสี่ยงที่มาจากภาคการคลังที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี 64% มีพื้นที่ทางการคลังจากกรอบที่กำหนดเพดานไว้ที่ 70% 

ความเสี่ยงธุรกิจประกันภัยในระยะข้างหน้า

“ในแง่ความเสี่ยงที่เป็นข้อจำกัดต่อธุรกิจประกันภัยในไทยที่พูดถึงกันน้อยคือ อัตราการเกิดต่ำ และในอีก 60ปี ข้างหน้าทำให้เหลือประชากรเพียงครึ่งหนึ่งก็นับเป็นความเสี่ยงอย่างมาก โดยต้องบริการจัดการอย่างอื่น"

นอกจากนี้ รายได้ต่อหัวต่อเดือนของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 2.2หมื่นบาททำให้คนคำนึงถึงค่าครองชีพก่อนเรื่องประกันภัย  แม้อาจจะมีประกันภัยไมโครอินชัวรันส์/ประกันภัยที่อัตราเบี้ยที่ต่ำลงเป็นทางเลือก แต่ปัจจัยโครงสร้างประชากรไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุซึ่งอายุเกิน 60ปีมีสัดส่วน 20%

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,048 วันที่ 28 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567