BTG แจงปมหุ้นกรีนชู ยัน"บล.เกียรตินาคินภัทร"ผู้จัดหา ไม่มีเอี่ยวกำไร

03 ธ.ค. 2565 | 11:59 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2565 | 19:48 น.

บมจ.เบทาโกร (BTG ) แจงปมหุ้นกรีนชูจำนวน 65.2 ล้านหุ้น ยัน"บล.เกียรตินาคินภัทร"ในฐานะผู้จัดหา ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกำไรจากส่วนต่าง แต่ประโยชน์ตกเป็นของบริษัทฯเอง

 

นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เบทาโกร หรือ BTG ชี้แจงผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วานนี้ (2 ธ.ค.65) เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร ในฐานะผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) และเงินส่วนต่างที่เกิดจากการรักษาเสถียรภาพของราคาหุ้น  ว่า
 

ตามที่ บมจ.เบทาโกร ได้เสนอขายหุ้นสามัญของบริษัทฯ ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ผ่านมา โดยได้มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินจำนวน 65,200,000 หุ้น โดยมีบมจ.หลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร เป็นผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการจัดหาหุ้นสามัญของบริษัทฯ เพื่อส่งมอบคืนให้แก่ บริษัท เบทาโกร โฮลดิ้ง จำกัด (“ผู้ให้ยืมหุ้น”) ภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันแรกที่หุ้นของบริษัทฯ เริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น 
 

 

ได้มีสื่อและสำนักข่าวบางแห่งได้เผยแพร่ข่าวสารที่ให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ซึ่งเกิดจากความเข้าใจผิดทั้งในหลักการ และในส่วนของผู้ได้รับประโยชน์ในเงินส่วนต่าง และจำนวนเงินส่วนต่างที่เกิดจากการรักษาเสถียรภาพของราคาหุ้นของบริษัทฯ โดยระบุว่า ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินได้รับผลประโยชน์จำนวนมากจากเงินส่วนต่างที่เกิดจากการซื้อหุ้นคืนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ในราคาที่ต่ำกว่าราคา IPO ซึ่งเป็นไปตามกลไกการรักษาเสถียรภาพราคาหุ้นของบริษัทฯ นั้น

 

บริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงและให้ข้อเท็จจริงว่าเงินส่วนต่างดังกล่าวที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เป็นของผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินผู้ให้ยืมหุ้น หรือผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์แต่อย่างใด โดยภายใต้ข้อตกลงในสัญญาที่เกี่ยวข้อง เงินส่วนต่างดังกล่าวจะตกเป็นของบริษัทฯ เพื่อประโยชน์ของบริษัท ฯ และผ้ถูือหุ้นทั้งหมดของบริษัท ฯ หลัง IPO นอกจากนั้น เงินส่วนต่างดังกล่าวที่เกิดขึ้นไม่ได้มีจำนวนมากดังที่สื่อและสำนักข่าวบางแห่งได้กล่าวถึง

 

 

 

การจัดสรรหุ้นส่วนเกินและกระบวนการรักษาเสถียรภาพของราคาหุ้นของบริษัทฯ เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำ IPO และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของบริษัทฯ เพื่อช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาหุ้น ภายหลังการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อประโยชน์ของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ โดยมีลักษณะที่สอดคล้องกับธุรกรรม IPO ที่มีขนาดใหญ่อื่นๆ ที่ผ่านมาของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ