หลังประเด็นการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) TRUE กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) DTAC ที่เป็นที่ทราบกันดี หลังมติบอร์ดของทั้ง 2 บอร์ดอนุมัติการควบรวมกิจการ และ ได้มีการรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ (ตลท.) พร้อมเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ ในชื่อเดิม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ TRUE
วันนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” จะพาไปส่องทิศทางการดำเนินธุรกิจของ นายบุญชัย เบญจรงคกุล หลังปล่อย ดีแทค ยังมีการดำเนินธุรกิจด้านใดบ้าง
ปัจจุบัน นายบุญชัย เบญจรงคกุล หรือ “เจ้าสัวบุญชัย” อายุ 69 ปี ได้ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการ DTAC จากการแต่งตั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2533 รวมระยะเวลา 33 ปี จนถึงปัจจุบัน
ณ 14 มิ.ย. 2565 นายบุญชัย ถือหุ้น DTAC 3,446,800 หุ้น
คงเป็นที่น่าจับตามองของผู้ที่สนใจว่าการปล่อยขาย ดีแทค ให้ ทรู นายบุญชัย เบญจรงคกุล หรือ “เจ้าสัวบุญชัย” จะให้ความสนใจหรือเดินหน้าธุรกิจด้านใดต่อไปหลังจากปล่อยมือจาก ดีแทค ซึ่งที่ผ่านมา “เจ้าสัวบุญชัย” ได้เคยเปิดเผยก่อนหน้านี้ในงานมอบรางวัล เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ. 2565 ว่า “การจัดงานในปี 2566 คงไม่มี ดีแทค แล้ว” ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนในช่วงนั้นว่าการควบรวมทั้ง ทรู และ ดีแทค คงเกิดขึ้น 100% ในวันนั้น
กลับมามองที่ธุรกิจปัจจุบันของ เจ้าสัวบุญชัย ยังคงมีหุ้น และธุรกิจใน เบญจจินดา กรุ๊ป หรือ BCG ที่มีบริษัทในเครือ กว่า 13 บริษัทดำเนินธุรกิจ 4 กลุ่มธุรกิจได้แก่
กลุ่มธุรกิจ Digital Infrastructure & Solution Business
กลุ่มธุรกิจ Distribution and Fulfillment Business
กลุ่มธุรกิจ Content Business
กลุ่มธุรกิจ Investment Business
เมื่อปี 2560 นิตยสาร Forbes จัดอันดับให้นายบุญชัย เบญจรงคกุล เป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยอันดับ 38 ของไทย มีทรัพย์สินรวมมูลค่า 710 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท
ล่าสุดในปี 2565 นายบุญชัยเป็นมหาเศรษฐีไทย อันดับ 46 สินทรัพย์รวม 735 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.58 หมื่นล้านบาท
กลุ่มธุรกิจส่วนใหญ่ในปัจจุบันได้ส่งมอบการบริหารงานให้กับ นายวิชัย เบญจรงคกุล ผู้เป็นน้องชายเกือบทั้งหมด เหลือเพียง มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ที่เจ้าสัวบุญชัย ยังคงให้บทบาทความสำคัญ ในการบริหารงาน การพัฒนาต่อยอดทางการเกษตร บนรูปแบบ “Young Smart Farmer” สนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ ใช้เทคโนโลยีควบคู่ไปกับการทำเกษตร เพื่อกลับไปพัฒนาจังหวัดบ้านเกิด ผ่านโครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ซึ่งดำเนินโครงการมากว่า 23 ปี