สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และ กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) รายงานข้อมูล "การจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ใน ASEAN และไทย ก่อนและหลังโควิด-19" พบว่ารายได้เงินปันผลของไทยมีบทบาทมากที่สุดใน ASEAN โดยประเทศไทยมีสัดส่วนเงินปันผลเมื่อเทียบกับ GDP อยู่ที่ 4.29% สูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศใน ASEAN ด้วยกัน รองลงมาคือ สิงคโปร์ มีสัดส่วน 3.68% ในขณะที่เวียดนามมีสัดส่วนน้อยที่สุดเท่ากับ 0.73%
โดยหมวดธุรกิจที่จ่ายปันผลสูงสุด ในแต่ละประเทศแตกต่างกัน จากข้อมูลพบว่าหมวด Financials มีการจ่ายเงินปันผลมากสุดในสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย และเป็นอันดับ 2 ในไทย ส่วน หมวดธุรกิจอื่นๆ ที่สำคัญ อาทิ Consumer Staples, Industrials, Utilities, etc
ส่วนอัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend Payout Ratio) ของ ASEAN กับผลกระทบจากโควิด-19 พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราการจ่ายเงินปันผลโดยเฉลี่ยของหมวด Energy สูงที่สุดอยู่ที่ 97.34% ขณะที่หมวด Consumer Discretionary ต่ำที่สุด เท่ากับ 4.11%
ขณะที่ในปี 2563 ผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้หมวด Industrials และ Consumer Discretionary โดยรวมของ ASEAN มีผลขาดทุนสุทธิ ส่งผลให้อัตราการจ่ายเงินปันผลมีค่าติดลบ และกลับมาเป็นบวกในปี 2564
อย่างไรก็ดีในปี 2564 แม้รายได้ และกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนไทย จะกลับมาฟื้นตัว แต่เงินปันผลยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19
โดยในปี 2563 สถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ และกำไรสุทธิ และการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนไทยให้ลดลง แต่พบว่าในปี 2564 แม้รายได้และกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนจะเพิ่มขึ้น จนอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 แต่มูลค่าเงินปันผลยังคงต่ำกว่าประมาณ 10%
ทั้งนี้ บริษัทจดทะเบียนของไทย หมวด Energy จ่ายเงินปันผลสูงสุด โดยทั่วไปการจ่ายเงินปันผลผันผวนกว่าราคาสินค้า
ปี 2564 บริษัทจดทะเบียนไทย หมวด Energy จ่ายเงินปันผลมากที่สุด อยู่ที่ 3.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือ หมวด Financials และ Consumer Staples อยู่ที่ 2.46 และ 2.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ในช่วงปี 2561-2564 การจ่ายเงินปันผลมีความผันผวนมากกว่าราคาสินค้า กล่าวคือ อัตราการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าการจ่ายเงินปันผลมากกว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งในขาขึ้นและขาลง