“TRUE” เผยปี 65 ขาดทุนหนัก 1.82 หมื่นล้านก่อนปิดดีล “DTAC”

21 ก.พ. 2566 | 03:48 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.พ. 2566 | 03:56 น.

สรุปผลประกอบการ “TRUE” ปี 65 ขาดทุนหนัก 1.82 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขาดทุน 1.42 พันล้าน เหตุกำลังซื้อผู้บริโภค

บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ได้รายงานผลประกอบการปี 2565 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. โดย นางสาวยุภา ลีวงศ์เจริญ) หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน ของ TRUE แจ้งว่า TRUE  มีผลดำเนินงานในปี 2565 ขาดทุนสุทธิ จำนวน 18,285.19 ล้านบาท คิดเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มากกว่า 20% จากปี 2564 ขาดทุนสุทธิ จำนวน 1,428.40 ล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงาน TRUE  สรุปมีดังนี้

กลุ่มทรูมีรายได้รวม 135,076 ล้านบาท และรายได้จากการให้บริการ 103,845 ล้านบาทซึ่งลดลง 2.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากแรงกดดันทางเศรษฐกิจซึ่งมีผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคและการแข่งขันในตลาด แม้ฐานผู้ใช้บริการจะเติบโต ส่งผลให้EBITDA อ่อนตัวลงมาที่ 52,804 ล้านบาท ในขณะที่มาตรการด้านการควบคุมต้นทุนยังดำเนินอยู่อย่างเข้มงวด ท่ามกลางต้นทุนด้านพลังงานและสาธารณูปโภคที่ปรับตัวขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการ

การขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทฯ เป็นจำนวน 18,285 ล้านบาทในปี 2565 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2564 จากค่าเสื่อมราคาโครงข่ายและค่าตัดจำหน่ายคลื่นความถี่ที่เพิ่มขึ้นเพื่อสนับสนุนการขยายโครงข่ายและการให้บริการอย่างต่อเนื่อง

 รวมทั้งขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 1.2 พันล้านบาท และค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำประมาณ 8.5 พันล้านบาทในไตรมาส 4 อาทิการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ที่มีความซ้ำซ้อนหรือคาดว่าจะไม่ได้ใช้ในบริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นภายหลังการควบรวมกิจการ การด้อยค่าของค่าความนิยม และผลกระทบจากการประเมินมูลค่าประจำปีของหน่วยลงทุน DIF

ผลประกอบการ "TRUE" ปี 65   

 

ไตรมาสแรกปิดดีลควบรวม

สำหรับการควบรวมกิจการกับ DTAC หรือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มาหชน) ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาส 1 ปี 2566 เป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ TRUE เป็นบริษัทด้าน เทคโนโลยีที่สามารถเผชิญกับความท้าทายทั้งในประเทศและในตลาดโลก เพิ่มขีดความสามารถในการลงทุนสำหรับ การควบรวมกิจการครั้งนี้จะช่วยเร่งสร้างมูลค่าที่เพิ่มขึ้นอย่าง มีนัยสำคัญ ด้วยการนำเสนอสินค้าและบริการที่หลากหลายและตรงกับความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้นและไปสู่ฐาน ลูกค้าที่ใหญ่กว่าเดิม อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงานและทักษะของพนักงาน พร้อมข้อได้เปรียบ ด้านการประหยัดต่อขนาด รวมถึงการลดความซ้ำซ้อนและสามารถใช้โครงข่ายและสินทรัพย์ของบริษัทได้อย่างมี ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับผู้บริโภคจะได้รับคุณภาพและประสบการณ์การใช้บริการที่ดียิ่งขึ้นและเป็นรูปแบบดิจิทัล มากขึ้น

นอกจากนี้ ตลท. ได้ขึ้นเครื่องหมาย SP ชื่อย่อหลักทรัพย์ - บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) DTAC , บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  หรือ TRUE ในวันที่ 20 ก.พ. 2566 ถึงวันที่ 02 มี.ค. 2566 

เหตุผล คือ  ตามที่ DTAC และ TRUE ได้ขอให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งห้ามการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ (SP) ของบริษัททั้ง 2 แห่งเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. ถึง 2 มี.ค. 2566 รวมเป็นระยะเวลา 9 วันทำการ เพื่อเตรียมการจัดสรรหุ้นสามัญของบริษัทใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของDTAC และ TRUE และการดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการนำหุ้นสามัญของบริษัทใหม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (รายละเอียดปรากฏตามข่าวของ DTAC และ TRUE วันที่ 12 ม.ค. 2566) ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสั่งห้ามการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของ DTAC และ TRUE เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. ถึง 2 มี.ค. 2566