ดาวโจนส์ปิดร่วง 198.77 จุด นักลงทุนกังวลเศรษฐกิจถดถอย

04 เม.ย. 2566 | 23:36 น.
อัปเดตล่าสุด :04 เม.ย. 2566 | 23:44 น.

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร (4 เม.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจและแรงงานที่อ่อนแอ ทำให้นักลงทุนกังวลเศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,402.38 จุด ลดลง 198.77 จุด หรือ -0.59%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,100.60 จุด ลดลง 23.91 จุด หรือ -0.58% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,126.33 จุด ลดลง 63.13 จุด หรือ -0.52%

ดัชนีหลักทั้ง 3 ดัชนีร่วงลง หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) ประจำเดือนก.พ. พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงานปรับตัวลง 632,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 9.9 ล้านตำแหน่งในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2564 และต่ำกว่าระดับ 10 ล้านตำแหน่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2564 รวมทั้งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 10.4 ล้านตำแหน่ง

ทั้งนี้ ตัวเลข JOLTS เป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยของเฟด

หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลข JOLTS ได้ไม่นาน นักลงทุนให้น้ำหนักเกือบ 60% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. และให้น้ำหนัก 43.1% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25%

แซล บรูโน นักวิเคราะห์จากบริษัท IndexIQ ในรัฐนิวยอร์กกล่าวว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานปรับตัวลดลงอย่างมาก ทำให้นักลงทุนกังวลว่าการจ้างงานในสหรัฐกำลังชะลอตัวลงมากเกินไป ซึ่งไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจ และอาจฉุดรั้งเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยในวันข้างหน้า

ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐร่วงลง 0.7% ในเดือนก.พ. ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 0.5% หลังจากดิ่งลง 2.1% ในเดือนม.ค. ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าทุนพื้นฐาน ที่ไม่รวมหมวดอาวุธและเครื่องบิน ลดลง 0.1% ในเดือนก.พ. โดยยอดสั่งซื้อประเภทนี้เป็นมาตรวัดความเชื่อมั่นและแผนการใช้จ่ายในภาคธุรกิจ

หุ้น 7 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนลบ นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมร่วงลง 2.25% และดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลง 1.72% ส่วนดัชนีหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคดีดตัวขึ้น 0.52%

หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลง หลังจากนายเจมี ไดมอน ซีอีโอของธนาคารเจพีมอร์แกนระบุในจดหมายถึงผู้ถือหุ้นว่า "วิกฤตในภาคธนาคารสหรัฐยังคงมีอยู่ และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องอีกหลายปี  การล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ และเครดิต สวิสในเดือนที่แล้ว ทำให้มีแนวโน้มมากขึ้นที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอย และแม้เหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่เหมือนกับปี 2551 แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าวิกฤตการณ์จะสิ้นสุดลงเมื่อใด ขณะที่ตลาดการเงินตึงตัวมากขึ้น เนื่องจากธนาคารและสถาบันการเงินจะใช้นโยบายที่รัดกุมมากขึ้น"

ทั้งนี้ หุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ร่วงลง 2.13% หุ้นเวลส์ ฟาร์โก ดิ่งลง 2.41% หุ้นเจพีมอร์แกน ลดลง 1.34% หุ้นโกลด์แมน แซคส์ ร่วงลง 1.15% หุ้นซิตี้กรุ๊ป ร่วงลง 1.33%

หุ้นเวอร์จิน ออร์บิต (Virgin Orbit) ซึ่งบริษัทวิศวกรรมการบินของนายริชาร์ด แบรนสัน ดิ่งลง 23.2% หลังจากบริษัทได้ยื่นคำร้องต่อศาลสหรัฐเพื่อขอพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรการ 11 ของกฎหมายล้มละลาย ภายหลังจากบริษัทไม่สามารถระดมเงินทุนเพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

นักลงทุนจับตาข้อมูลแรงงานของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยในวันพุธจะมีการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนมี.ค.จาก ADP ส่วนในวันพฤหัสบดีจะเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และในวันศุกร์จะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมี.ค.