ปมร้อนกรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขอเลื่อนส่งงบการเงินปี 65 ไปเป็นช่วงเดือน พ.ค.- มิ.ย.66 และการที่บอร์ดบริษัท ฯ ลาออกยกทีม 7 ราย ตลอดจนเรื่องที่นักลงทุนวิตกกันว่า STARK เสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ ระบุจากข่าว STARK ผลิตสายไฟที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ไม่ได้อยู่ในการวิเคราะห์) อาจผิดนัดชำระหนี้จากธนาคาร ท่ามกลางปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในบริษัท คณะกรรมการของบริษัทจำนวนหนึ่งได้ลาออกไป และบริษัทยังไม่ได้ส่งผลประกอบการปีงบการเงิน 2565 โดย ธนาคารกสิกรไทย ( KBANK ) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ ( SCB ) เป็นผู้ให้กู้แก่ STARK มุมมองฝ่ายวิจัย ฯ หากผิดนัดชำระหนี้ จะนำไปสู่ค่าใช้จ่ายสำรองที่จะเพิ่มขึ้นจำนวนมาก
โดยในไตรมาส 3/2565 STARK มีเงินกู้ยืมจากธนาคารที่ 8.6 พันล้านบาท ในจำนวนนี้ 6.6 พันบาท และ 0.8 พันบาท มีหลักประกันเป็นทรัพย์สินและลูกหนี้ตามลำดับ ส่วนที่เหลืออีก 1.2 พันล้านบาท เป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน อย่างไรก็ตาม อสังหาฯ ที่เป็นหลักประกันเงินกู้ 6.6 พันล้านบาท พบว่ามีราคาประเมินเพียง 1.7 พันล้านบาท
นอกจากนี้ ฝ่ายวิจัย ฯ ยังสงสัยว่าบัญชีลูกหนี้จะมีมูลค่าที่มีนัยสำคัญหรือไม่ ในกรณีที่เกิดการผิดนัดชำระ สมมติว่ามูลค่าของทรัพย์สินยังคงอยู่ที่ 1.7 พันล้านบาท (เป็นมุมมองในแง่ดี) ฝ่ายวิจัยประเมินว่า ธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อจะต้องกันเงินสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 6.9 พันล้านบาทในกรณีที่ผิดนัดชำระ ซึ่งเท่ากับ 14% ของการตั้งสำรองของกลุ่มธนาคารใน 1Q23F และ 34% ของค่าใช้จ่ายการตั้งสำรอง 1Q23F ของ KBANK และ SCB
อย่างไรก็ดี ฝ่ายวิจัย ฯไม่สามารถวัดความน่าจะเป็นที่ STARK จะผิดนัดชำระหนี้จากธนาคาร นอกจากนี้ ยังไม่มีข้อมูลว่าธนาคารใดให้ยืมแก่ STARK และขอเตือนว่าไม่น่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวจากธนาคารต่างๆ และการกู้ยืมเงินจากธนาคารของ STARK นั้นมีจำนวนมาก หากบริษัทผิดนัดชำระหนี้ก็จะนำไปสู่ค่าใช้จ่ายสำรองจำนวนมากสำหรับกลุ่มธนาคาร
ด้านธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เมื่อวันที่ 21 เม.ย.66 ได้รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 1/66 ว่าธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิจำนวน 10,741 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 4.19% โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้มีจำนวน 26,781 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของรายได้จากการดำเนินงานและการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ธนาคารยังระบุถึงการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ตามหลักความระมัดระวังว่า แม้ว่าจะลดลงจากไตรมาส 4/65 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีจำนวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารมีการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์เชิงรุกที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่อาจจะส่งผลต่อลูกค้าบางกลุ่มที่ยังมีความเปราะบาง
นอกจากนี้ ในไตรมาส 1/66 ธนาคารพบว่ามีลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งที่คุณภาพหนี้มีสัญญาณความเสื่อมถอย โดยธนาคารได้มีสำรองสำหรับหนี้ส่วนนี้ไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม ธนาคารอาจพิจารณาความเหมาะสมในการกันสำรองเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด