ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปิดที่ 33,127.74 จุด ลดลง 286.50 จุด หรือ -0.86%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,061.22 จุด ลดลง 29.53 จุด หรือ -0.72% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,966.40 จุด ลดลง 58.93 จุด หรือ -0.49%
ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 4 เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในภาคธนาคารของสหรัฐยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาด โดยล่าสุด แพคเวสต์ แบงคอร์ป (PacWest Bancorp) บริษัทแม่ของธนาคารแปซิฟิก เวสเทิร์น แบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารประจำภูมิภาคของสหรัฐ ออกแถลงการณ์ว่า "คณะกรรมการบริหารของบริษัทกำลังสำรวจทางเลือกด้านกลยุทธ์ทั้งหมด โดยบริษัทได้ทำการติดต่อผู้ที่อาจเป็นหุ้นส่วนหรือนักลงทุนในช่วงที่ผ่านมา และการเจรจายังคงดำเนินต่อไป ซึ่งบริษัทจะยังคงประเมินทุกทางเลือกเพื่อให้มูลค่าสูงสุดต่อผู้ถือหุ้น"
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า คำว่า "สำรวจทางเลือกด้านกลยุทธ์ทั้งหมด" ถือเป็นการส่งสัญญาณ "ช่วยด้วย!" ซึ่งธนาคารล่าสุดที่ได้ประกาศว่า กำลัง "สำรวจทางเลือกด้านกลยุทธ์ทั้งหมด" ก็คือ ธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ (FRB) ก่อนที่จะถูกบรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) เข้าพิทักษ์ทรัพย์ และเจพีมอร์แกน เชส เข้าซื้อกิจการในที่สุด
ข่าวดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้นแพคเวสต์ แบงคอร์ป ทรุดตัวลงกว่า 50% และยังได้ฉุดราคาหุ้นธนาคารระดับภูมิภาคและธนาคารรายใหญ่ดิ่งลงด้วย โดยหุ้นไซออนส์ แบงคอร์ป ร่วงลง 13%, หุ้นโคเมริกา ร่วงลง 12% หุ้นเฟิร์สท์ ฮอริซอน ดิ่งลง 33% หุ้นเจพีมอร์แกน ร่วงลง 1.37% หุ้นโกลด์แมน แซคส์ ร่วงลง 2.25% หุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกา ดิ่งลง 3.12%
หุ้นเวสเทิร์น อัลไลแอนซ์ แบงคอร์ป ปิดตลาดร่วงลงเกือบ 39% โดยในระหว่างวัน ราคาหุ้นทรุดตัวลงกว่า 60% และถูกระงับการซื้อขายหลายครั้ง แม้ธนาคารออกมาปฏิเสธรายงานข่าวที่ว่ากำลังสำรวจทางเลือกต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการขายหุ้น
บิล แอคแมน ผู้บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์เพอร์ชิง สแควร์ (Pershing Square) กล่าวว่า ความเชื่อมั่นในสถาบันการเงินนั้นถูกสร้างขึ้นโดยใช้เวลาหลายสิบปี และถูกทำลายลงภายในเวลาไม่กี่วัน ธนาคารล้มแบบโดมิโน เมื่อธนาคารแห่งหนึ่งล้ม ก็สามารถทำให้ธนาคารแห่งอื่น ๆ ล้มตามไปด้วย นอกจากนี้ แอคแมนยังเรียกร้องให้ผู้ควบคุมกฎระเบียบทำการรับประกันเงินฝากเป็นวงกว้าง
ขณะเดียวกัน นักลงทุนผิดหวังต่อการส่งสัญญาณทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งแม้แถลงการณ์ของคณะกรรมการเฟดบ่งชี้ว่าเฟดจะยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวว่า เงินเฟ้อยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมาย และต้องใช้เวลากว่าจะปรับตัวลง เฟดจึงมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยยังไม่มีความเหมาะสมในขณะนี้
นอกจากนี้ นักลงทุนกังวลต่อการที่สหรัฐอาจเผชิญการผิดนัดชำระหนี้ภายในวันที่ 1 มิ.ย. หากสภาคองเกรสไม่ปรับเพิ่มเพดานหนี้ก่อนเส้นตายดังกล่าว
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 13,000 ราย สู่ระดับ 242,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 240,000 ราย
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนเม.ย.ของสหรัฐในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 180,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 236,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.6% ในเดือนเม.ย.