งานสัมมนากรุงเทพธุรกิจ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 2566 มา ฟันด์โฟลว์ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยแล้วประมาณ 1.41 แสนล้านบาท (YTD) ขณะที่ไหลเข้าในตลาดพันธบัตรไทย ต้นปีมาราว 2.39 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดีประเทศไทยยังมีปัจจัยท้าทาย ในเรื่องไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จนนักลงทุนกังวลว่า จะส่งผลต่อกระแสเงินทุน และทิศทางลงทุนจากนี้
"การที่เงินไหลออก หรือหุ้นไทยผลประกอบการปีนี้ไม่ดี เป็นบริบทที่เป็นผลจากปีที่แล้ว เพราะขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐ ตลาดหุ้นเวียดนามปีที่แล้วตกถึง 33% ตลาดหุ้นฮ่องกง จีน ตก แต่ตลาดหุ้นไทยปีที่แล้วกลับเป็นบวก จากที่ต่างชาติมองไทย เป็น safe haven แต่ ณ วันนี้สถานการณ์เปลี่ยน ตลาดหุ้นประเทศอื่นกลับมาคึกคัก เงินจึงไหลออกกลับไปหาผลตอบแทนที่เหมาะสม แต่ไทยกลับยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนทางด้านการเมือง "
อย่างไรก็ดี ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส และขณะนี้นักลงทุนได้ผ่านช่วงมรสุมการลงทุน( Investment storm) ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นสูงสุด แต่หัวใจสำคัญขณะนี้คือ กำลังเข้าสู่ช่วง recession สหรัฐ ผลประกอบการลดลง การเกิดวิกฤตในภาคแบงก์ และภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งคาดสหรัฐจะเข้าสู่ recession ช่วงปลายปี 2566 ถึงไตรมาส 1/2567 และผลจากเศรษฐกิจชะลอจะทำให้เงินเฟ้อปรับลดลง จนสู่เป้าหมายที่ 2%ได้ในกลางปีหน้า จึงคาดว่าดอกเบี้ยเฟดจะปรับลดลงในกลางปีหน้า
ดร.กอบศักดิ์ กล่าวถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยเฟดว่า คาดจะปรับขึ้นอีกไตรมาสละ 0.25% รวม 2 ครั้ง 0.50% หรือไปจบสิ้นปีนี้ที่อัตรา 5.50-5.75% หลังจากที่คงอัตราดอกเบี้ยที่ 5.00-5.25% เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.66 และคาดว่าดอกเบี้ยเฟดจะคงที่จากสิ้นปี 66 จนถึงกลางปีหน้า จากนั้นจึงปรับลงมาอยู่ระดับ 4.60% ในปลายปี 67 หรือลดลง 1% ใน 1 ปี เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังกังวล 3 เรื่องใหญ่
คือเงินเฟ้อที่ยังสูง ตลาดแรง และภาคแบงก์ที่ยังต้องอัดฉีดเงินช่วย ทั้ง 3 ปัจจัยจึงเป็นตัวป่วนตลาด และจะส่งผลถึงตลาดหุ้นด้วย รวมถึงค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้น จะเห็นเงินเยนกลับมาที่ 140 เยน/ดอลลาร์ และเงินบาทอ่อนที่ 34-35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และการที่ดอกเบี้ยขณะนี้อยู่ในระดับสูง จะซ้ำเติมให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจอย่างที่หลาย ๆประเทศรับผลกระทบอยู่
ทิศทางและโอกาสในการลงทุน ดร.กอบศักดิ์ แนะนำ 4 สินทรัพย์ มองว่ามีโอกาสสร้างผลตอบแทนดี ได้แก่
หุ้นต่างประเทศ เขายกบทเรียนวิกฤตที่เกิดขึ้นในอดีตว่า bottom ของตลาดหุ้นจะเกิดขึ้นก่อนที่ recession จะจบลง ตัวอย่างหลังเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ( ปี 2550-2551) ตลาดหุ้น 6 เดือนให้หลัง"ตกต่ำสุด" แต่หลังจากนั้นก็กลับมาฟื้น และทุกครั้งที่เข้าสู่ Bear market จะเป็นโอกาสในการทยอยซื้อหุ้น เช่นดัชนีดาวโจนส์ ปีที่แล้วปรับลง 22 % แต่เริ่มฟื้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 65 ดัชนีแนสแด็กปีที่แล้วร่วง 33% โดย ธ.ค.ปี 65 ตกลงมาเหลือ 10,000 กว่าจุด แต่วันนี้กลับเด้งขึ้นเป็น 13,600 จุด หรือขึ้นมา 36% ถ้าใครลงทุนก็มีกำไรแล้ว
"การเข้าลงทุนอย่ารอให้ recession จบ หรืออย่ารอให้ทุกอย่างเคลียร์ และอย่าลังเลใจ แต่ไม่จำเป็นต้องทุ่มสุดตัว แนะให้ถือไว้ 2-3 ปี ถึงจะได้รับตอบแทนที่ ซึ่งดีกว่าฝากแบงก์"
พันธบัตร หาก recession มา จะเกิดการลดดอกเบี้ย จึงเป็นโอกาสดีในการลงทุนพันธบัตร จากราคาพันธบัตรที่ปรับขึ้น ซึ่งจะเห็นผลตอบแทนชัดเจนในช่วง 2567 สวนทางกับดอกเบี้ยเฟดที่ปรับลง
ทองคำ แม้จะหาผลตอบแทน จากโอกาสทำนิวไฮไม่ได้ง่ายเหมือนช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่พีคสูงสุดถึง 2,000 ดอลล์/ออนซ์ คือครั้งที่เกิดโควิด , สงครามยูเครน - รัสเซีย , และแบงก์สหรัฐล้ม ปัจจุบันราคาทองต่างประเทศอยู่ที่ 1,900 ดอลล์/ออนซ์ ยกเว้นถ้าจีนกับสหรัฐเกิดความขัดแย้ง ก็อาจเป็นโอกาส แต่ขณะนี้ยังไม่ชัด
สินทรัพย์คริปโต เช่น บิตคอยน์ ( BTC) จากที่เคยปรับขึ้นสูงสุดถึง 7 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ และปลายปีที่แล้วตกลงมาเหลือหมื่นกว่า ๆดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปรับขึ้นมาอยู่ระดับ 3 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ จาก 1.7 หมื่นดอลลาร์ ตอนนี้อยู่ระดับ 2.5 หมื่นดอลลาร์ ถือเป็นสินทรัพย์อีกตัวที่ควรมีไว้ในพอร์ต และเป็นสินทรัพย์ทีผ่านช่วงโชกโซน ที่มีปัญหาก็ได้ออกจากตลาดไป ที่เหลือจึงน่าจะแกร่งพอที่จะเลือกลงทุนได้