จากการแถลงข่าวของ 11 หน่วยงานต่อสื่อมวลชน ที่นำโดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในประเด็นร้อนเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาหุุ้น "STARK" เมื่อวานที่ผ่านมา (26 มิ.ย. 66)
หนึ่งในเรื่องที่น่าสนใจในการแถลงข่าว คือ เรื่องในการประเมินความน่าจะเป็น และความแข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน และความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสาร
โดยมี 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเป็นผู้เชี่ยวชาญ อย่าง สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน และบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ที่ต่างยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า "พลาด" เพราะไม่สามารถรับรู้ได้ว่า "งบการเงิน" หรือบัญชีที่ทำออกมาของบริษัทจดทะเบียน "ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่"
ซึ่งกว่าจะตรวจสอบได้ว่าถูกต้องหรือไม่ ก็ทำให้มีผู้เสียหายทะลุหลักพันรายเป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว ทั้งในฝั่งผู้ถือหุ้นและผู้ถือหุ้นกู้ รวมทั้งมูลค่าความเสียหายไม่น้อยเลยทีเดียว
โดยนายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ได้ให้ความเห็นบางช่วงของการแถลงข่าวว่า เหตุการณ์แก้ไขงบที่เกิดขึ้นกับหุ้น STARK นั้น สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากของนักวิเคราะห์ และนักลงทุนในฐานะเป็นผู้ใช้ข้อมูล
ซึ่งแม้ว่านักวิเคราะห์จะมีความรอบคอบ และมีระบบการวิเคราะห์ที่รัดกุมเพียงใด ก็ไม่สามารถยืนยันถึงความถูกต้องของข้อมูล เนื่องจากอยู่ในสถานะที่เป็นเพียงผู้ใช้ข้อมูล "ไม่เคยมีโอกาสที่จะได้เข้าถึงหลักฐานยืนยันรายการทางบัญชี"
สำหรับแนวทางที่องค์กรต่าง ๆ จะร่วมกันคิดเพื่อป้องกันปัญหาแบบนี้ไม่ให้เกิดขึ้นได้ง่าย คือ ต้องหาวิธีที่จะสามารถตรวจทานหลักฐานยืนยันรายการทางบัญชีให้มั่นใจได้มากขึ้น รวมถึงการมีหลักเกณฑ์ให้บริษัทจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องมา Opportunity Day หรือการจัดประชุมนักวิเคราะห์อย่างทั่วถึงปีละ 2-4 ครั้ง
เพื่อให้นักวิเคราะห์และนักลงทุนสามารถซักถามสอบถามได้โดยตรง เพื่อประเมินความสมเหตุผลของข้อมูลและวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ในส่วนของสมาคมนักวิเคราะห์ฯ เองก็จะเพิ่มเติมการพัฒนาทักษะความสามารถของนักวิเคราะห์ ในด้านการคัดกรองข้อมูลและประเมินความสมเหตุผลตลอดจนทักษะในการตรวจจับจุดอันตรายในงบการเงิน เป็นต้น
ขณะที่ด้านนายศักดิ์ดา พงศ์เจริญยง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก็ยอมรับว่าในเรื่องนี้คงจะต้องมีการปรับปรุงขั้นตอนในการคัดกรองผู้ออกตราสารใหม่ให้เข้มงวดมากขึ้น โดยจะเพิ่มความระมัดระวังสำหรับผู้ออกตราสารที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
โดย backdoor listing ผู้ออกตราสารที่ไม่มีประวัติในการสร้างธุรกิจด้วยตัวเอง หรือเน้นสร้างการเติบโตจากการซื้อกิจการอื่น รวมถึงจะหลีกเลี่ยงการจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้กับผู้ออกตราสารที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือผู้บริหารที่มีประวัติหรือชื่อเสียงในทางลบทางด้านธรรมาภิบาล
นอกจากนี้ "ทริสเรทติ้ง" จะเพิ่มการฝึกอบรมนักวิเคราะห์ ในส่วนเทคนิคการสังเกตลักษณะของงบการเงินที่น่าสงสัยว่ามีการตกแต่งงบการเงิน เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ความผิดปกติของงบการเงินและสถานะทางการเงินที่แท้จริงของผู้ออกตราสาร
ถือได้ว่าทั้ง 2 หน่วยงานยังออกมายอมรับว่า การจะประเมินแม้มีความรอบครอบ แต่ก็ยังยากที่จะตรวจสอบให้แน่ชัดได้ว่า "งบการเงิน ที่แจ้งออกมาจะเป็นจริงตามที่เปิดเผยไว้หรือไม่"
ดังนั้นการจะตัดสินใจลงทุนทั้งในหุ้น และหุ้นกู้ นักลงทุนจะต้องมีการศึกษาข้อมูลให้รอบด้านรอบคอบ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะขนาดผู้ที่เชี่ยวชาญ ยังพลาดท่าเสียทีให้กับ "STARK" ในครั้งนี้