"ทรีนีตี้" มองตลาดหุ้นฟื้นไตรมาส 4 Fund Flow รอจังหวะไหลกลับไทย

05 ก.ค. 2566 | 07:31 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2566 | 07:34 น.

บล.ทรีนีตี้ คาดตลาดหุ้นไทยฟื้นช่วงไตรมาส 4 ด้าน Fund Flow รอจังหวะไหลกลับเข้าลงทุน ห่วงสภาพคล่องปรับลดลง กดดันตลาดหุ้นทั่วโลกช่วงครึ่งปีหลัง แนะลงทุนหุ้นกลุ่มอิง Mega Trend

นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุน ช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ว่า ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจชะลอตัว และทิศทาง Fund Flow โลกยังคงอ่อนแอ กว่าช่วงต้นไตรมาส 3-4 ตลาดหุ้นจะขึ้นต่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเติบโตเศรษฐกิจ หลังดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐน่าจะถึงจุดสูงสุดในปลายไตรมาส 3

ทั้งนี้คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยอย่างจริงจังในปลายไตรมาส 3 จะหนุนให้ตลาดหุ้นทั่วโลกตอบสนองในทางบวกในไตรมาส 4 ในทางกลับกันถ้าเฟดตัดสินใจลดดอกเบี้ยทันทีตลาดหุ้นมักให้ผลตอบแทนเป็นลบ เพราะเป็นการตอกย้ำว่าเศรษฐกิจจะไม่ดี

จะทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกไตรมาส 3 มีโอกาสปรับตัวลดลง เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง และสภาพคล่องทั่วโลกจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะกดดันให้ตลาดหุ้นโลก และไทยในช่วงไตรมาส 3 อ่อนแอลง

นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด

ส่วนทิศทางตลาดหุ้นในไตรมาส 4 น่าจะฟื้นตัว หลังจากผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วช่วงไตรมาส 3 จากการอ่อนแอของดอลลาร์สหรัฐ และเฟดมีโอกาสที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาสแรกของปี 2567

รวมทั้งมองตลาดทุนในตลาดเกิดใหม่จะ Outperform ในไตรมาส 4 เนื่องจากในเอเชียได้ผลกระทบจาก Interest shock น้อยกว่าตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะ Outperform ตลาดหุ้นจีนจะมีการฟื้นตัวในไตรมาส 3 นี้

ขณะที่ Bond Yield 10 ปีของสหรัฐได้ถึงจุดสูงสุดไปแล้วที่ระดับ 4.3% หรือกว่า 8 เดือนที่แล้วแต่ Fed Fund Rate อาจจะถึงจุดสูงสุดในไตรมาส 3 และหยุดการขึ้นดอกเบี้ย และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในไตรมาส 3

โดยที่ผ่านมาการที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงกำลังสะท้อนความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายที่มีผลต่อตลาดทุน ซึ่งดัชนีหุ้นไทยที่ระดับ 1,450 จุด ถือว่าถูกเป็นอันดับที่ 5 ในรอบ 16 ปี ซึ่งใกล้เคียงกับการเกิด Covid รอบ 2 ในกลางปี 2021  ทำให้ถือเป็นจุดที่น่าลงทุนในระยะกลาง Valuation ปัจจุบัน P/BV ที่ 1.44 เท่า

ขณะที่นักลงทุนขายสุทธิกว่า 1 แสนล้านบาทตั้งแต่ปี 2566 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนพฤษภาคมที่ขายกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 3.3 หมื่นล้าน และคาดว่าการขายของนักลงทุนต่างประเทศลดลง

แต่เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติยังรอจังหวะกลับเข้ามาลงทุนในไทยในช่วงปลายไตรมาส 3 ของปี 66 โดยรอปัจจัยจาก อัตราดอกเบี้ย และเศรษฐกิจโลกนิ่งขึ้นกว่าในปัจจุบัน รวมทั้งทิศทางการเมืองของไทยที่ชัดเจนและมีเสถียรภาพ

"ต่างชาติรอจังหวะเข้าอยู่ ขอให้เศรษฐกิจโลกนิ่ง ดอกเบี้ยนิ่ง การเมืองในประเทศนิ่งมีเสถียรภาพ เชื่อว่า Fund Flow จะไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทยได้ในช่วงปลายไตรมาส 3 ปี 66" นายวิศิษฐ์ กล่าว

อย่างไรก็ตามปัจจัยบวกที่จะหนุนเศรษฐกิจไทย มาจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวกลับมา และมีสัดส่วนมากกว่า 10% ของ จีดีพี รวมถึงการส่งออกไทยฟื้นตัวไตรมาส 4

โดยปกติการส่งออกของไทยจะอยู่ในช่วงเฉลี่ยเดือนละ 21,000-23,000 ล้านดอลลาร์ โดยที่ฐานต่ำในไตรมาส 4 ปีที่แล้วที่ระดับ 21,933 อาจทำให้เราเห็นการเติบโตของ Export ในไตรมาส 4 ปีนี้

ด้านกลยุทธ์มองว่าการลงทุนใน Mega Trend เช่น หุ้นที่ได้ประโยชน์จาก "เอลนีโญ" ซึ่งจะทวีความรุนแรงขึ้นในครึ่งแรกของปี 2567 หุ้นที่ได้ประโยชน์จาก AI Growth ทั่วโลก และหุ้นไทยที่มีการเติบโตทั้ง Yoy และ QoQ ในไตรมาส 2 เช่น BBL BEM CPALL CPAXT KTB MINT

รวมไปถึงกลุ่มพลังงาน และกลุ่มธนาคาร ที่เป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จาก Searching for Yields (เงินปันผลมากกว่าอัตราผลตอบแทนรัฐบาล 10 ปี) \"ทรีนีตี้\" มองตลาดหุ้นฟื้นไตรมาส 4 Fund Flow รอจังหวะไหลกลับไทย