ตลาดทุนผนึกกำลัง ปราบมิจฉาชีพหลอกลงทุน พบความเสียหายทะลุหมื่นล้าน

24 ก.ค. 2566 | 09:04 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ค. 2566 | 09:05 น.

ตลาดทุนร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งปราบมิจฉาชีพ “หลอกลงทุน” หลังพบแอบอ้าง องค์กร ชื่อ ภาพ ของผู้บริหารหลายหน่วยงาน สร้างความเสียหายกว่า 1.1 หมื่นล้าน ในช่วง 14 เดือนที่ผ่านมา

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จับมือพันธมิตรภาคตลาดทุน องค์กรธุรกิจ และหน่วยงานรัฐ เพื่อประกาศเจตนารมณ์ "ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน" พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูล ตรวจสอบ ชี้เป้าข่าวปลอม และรณรงค์เตือนตอกย้ำประชาชนสร้างภูมิคุ้มกันด้วยสติ เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพหลอกลงทุน

โดยนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า ในปัจจุบันปัญหามิจฉาชีพที่ชักชวนลงทุนผ่านสื่อโซเชียลมีเดียมีจำนวนมาก และมาในหลายรูปแบบ ทั้งการแอบอ้างองค์กร ชื่อ ภาพของผู้บริหารหลายหน่วยงาน 

รวมถึงบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือหลอกลวงให้มาลงทุน โดยสร้างความเสียหายให้ประชาชน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และสังคมเป็นวงกว้าง

โดยคดีที่มีการหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าความเสียหายสูงสุดกว่า 11,500 ล้านบาท ในช่วง14 เดือนที่ผ่านมา จึงเป็นเหตุผลที่ตลาดหลักทรัพย์ ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคตลาดทุน องค์กรธุรกิจ และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อริเริ่มโครงการ "ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน"

เนื่องจากปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะสามารถแก้ไขได้ โดยเฟสแรกสิ่งที่องค์กรพัธมิตรจะร่วมกันทำคือ การสื่อสาร การเช็ก ชี้ แฉ ตีแผ่ข้อเท็จจริง ชี้เป้าข่าวเท็จ ควบคู่ไปกับการเตือน ตอกย้ำ ให้ความรู้ สร้างภูมิคุ้มครองกันให้กับผู้ลงทุน และประชาชนไม่ให้เป็นเหยื่อกับมิจฉาชีพ

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

หน่วยงานที่ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ในครั้งนี้ ประกอบด้วย

  1. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  2. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
  3. สภาธุรกิจตลาดทุนไทย
  4. สมาคมธนาคารไทย 
  5. สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย
  6. สมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai
  7. สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย 
  8. สมาคมบริษัทจัดการลงทุน
  9. กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน 
  10. ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย 
  11. กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตำรวจไซเบอร์)

ทั้งนี้ข้อมูลจาก กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) พบว่า คดีอาชญากรรมออนไลน์ที่คนไทยตกเป็นเหยื่อ สูงสุด 5 อันดับแรกคือ

  1. หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 
  2. หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน
  3. หลอกให้กู้เงิน
  4. หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์
  5. ข่มขู่ทางโทรศัพท์

ด้านนายธวัชชัย ทิพยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ทางสำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีการเตือน Investor Alert ไปแล้วกว่า 80 ราย และมีการกล่าวโทษเพจที่มีการอ้างอิงโลโก้ชื่อสำนักงาน ก.ล.ต. ไปกว่า 10 ราย และที่เหลืออีก 37 ราย มีการส่งไปยังศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม 

แม้ว่าจะพยายามดำเนินการแล้ว แต่สิ่งหล่านี้ก็ยังไม่ได้ลดน้อยลงไป เพราะฉะนั้นการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ต่อภาคตลาดทุนและหน่วยงานภาครัฐ จะทำให้เกิดความกว้างขวางมากขึ้น มีการช่วยเหลือกันมากขึ้นเพื่อร่วมมือกันต่อต้านสิ่งเหล่านี้