ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,438.07 จุด เพิ่มขึ้น 26.83 จุด หรือ +0.08%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,567.46 จุด เพิ่มขึ้น 12.82 จุด หรือ +0.28% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,144.56 จุด เพิ่มขึ้น 85.69 จุด หรือ +0.61%
นักลงทุนจับตาผลประกอบการของบริษัทอัลฟาเบทและไมโครซอฟท์ซึ่งจะมีการรายงานหลังปิดตลาด โดยคาดว่าผลประกอบการของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่เหล่านี้จะได้รับปัจจัยบวกจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวช่วยหนุนหุ้นอัลฟาเบท ดีดตัวขึ้น 0.56% หุ้นไมโครซอฟท์พุ่งขึ้น 1.7% ขณะที่หุ้นเมตา แพลตฟอร์มส์ บวกเกือบ 1% หุ้นอินเทล พุ่งขึ้น 1.4%
หุ้น 5 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนบวก นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มวัสดุและกลุ่มเทคโนโลยี พุ่งขึ้น 1.76% และ 1.19% ตามลำดับ ส่วนดัชนีหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มการเงิน ปรับตัวลง 0.74% และ 0.73% ตามลำดับ
หุ้นเจเนอรัล มอเตอร์ (GM) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ พุ่งขึ้น 6.27% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรต่อหุ้นในไตรมาส 2/2566 ที่ระดับ 1.91 ดอลลาร์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.87 ดอลลาร์
หุ้น 3M พุ่งขึ้น 5.34% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรต่อหุ้นในไตรมาส 2/2566 ที่ระดับ 2.17 ดอลลาร์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.73 ดอลลาร์
หุ้นดาว อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทอุตสาหกรรมรายใหญ่ของสหรัฐ ปิดตลาดดีดตัวขึ้น 1.7% หลังจากราคาหุ้นร่วงลงในระหว่างวัน อันเนื่องมาจากการรายงานผลกำไรต่อหุ้นในไตรมาส 2/2566 ที่ระดับ 0.68 ดอลลาร์ ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ระดับ 2.26 ดอลลาร์ โดยได้รับผลกระทบจากราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงและยอดขายที่อ่อนแอ
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจเปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 117.0 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2564 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 111.8 จากระดับ 110.1 ในเดือนมิ.ย. โดยแรงหนุนจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง
นักลงทุนจับตาผลการประชุมเฟดในวันนี้ (26 ก.ค.) ตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเช้าตรู่ของวันพรุ่งนี้ตามเวลาไทย โดยนักลงทุนให้น้ำหนักเกือบ 100% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมครั้งนี้
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนมิ.ย.ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)