"IPO Effect" กับ เรื่องที่ต้องระวัง

22 ต.ค. 2566 | 02:20 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ต.ค. 2566 | 02:27 น.

ทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์"IPO Effect" คืออะไร พร้อมเรื่องที่ต้องระวัง ตอบคำถามว่า ทำไมราคาหุ้นน้องใหม่หลายตัวจึงร่วงกลับมาต่ำกว่า IPO

หุ้นน้องใหม่ หลายบริษัทเข้ามาในตลาดพร้อมกับราคาที่พุ่งขึ้นแรง (บางทีอาจจะแรงแค่วันเดียว) สิ่งนี้เรียกว่า IPO Effect หรือ ปรากฏการณ์ของหุ้นเข้าใหม่ ซึ่งจะมีลักษณะแบบนี้ที่ก่อให้เกิดความต้อการซื้อสูงในช่วงแรก คือ Awareness - Consideration - Purchase Intention
 

Awareness  : ไปที่ไหนก็เจอ ใครๆ ก็พูดถึง 

เพราะเป็นหุ้นใหม่ที่ต้องมีการประชาสัมพันธ์ เดินสาย Roadshow มีป้ายโฆษณา ออกสื่อหลักทุกสำนัก ทำให้เราเห็นข่าวเกี่ยวกับหุ้นตัวนี้อยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะติดตามผ่านช่องทางไหนก็ตาม จากบริษัทที่ไม่เคยเห็น ก็ทำให้รู้จักมากขึ้น เรียกว่า สร้างการรับรู้ให้เกิดความคุ้นเคย หรือ Build Awareness นั่นเอง

Consideration :  เต็มไปด้วยข่าวดี ต้องเก็บไว้ใน Watch List

ไม่ใช่แค่เห็นและรู้จัก ข่าวที่ออกมาก่อนเข้าตลาดทั้งจากสื่อสัมภาษณ์ บทความตามเพจต่างๆ Youtube, Facebook, IG, Tiktok และบทวิเคราะห์ล้วนพูดแต่ด้านดี พูดแต่มุมบวกว่า หุ้นบริษัทนี้ดีอย่างไร กำลังจะมี growth story อะไรบ้าง อนาคตจะสดใสแค่ไหน จนเราเคลิ้มเก็บมาพิจารณาเอาเข้า watch list ที่อยากมีในพอร์ต

Purchase Intention : เป้าราคาสูง มี upside เยอะ จนอยากซื้อ

หลายครั้งที่เราชอบดูราคาเป้าหมาย ซึ่งแน่นอนว่าต้องสูงกว่าราคา IPO โดยที่เราอาจจะลืมดูไปว่า กำไรที่เอามาคิดคือ กำไรปีหน้า หรือ 2 ปีข้างหน้า P/E ที่เอามาคำนวณ คือ P/E ที่สูงกว่าอุตสาหกรรมหรือบริษัทใกล้เคียงกันมากๆ จนบางครั้งราคาเป้าหมายดูแพงเกินจริง

แต่พอเปิดตลาดวันแรก ราคาเปิดกระโดดไปที่ราคาเป้าหมายทันที ราคาที่ว่าแพงแล้ว ก็มีคนไล่ราคาขึ้นไปอีก เราก็กลัวตกรถ หรือว่าจะดีจริงอย่างที่เค้าพูดกัน ก็ขอเข้าไปร่วมวงด้วย ราคาบางทีก็ขึ้นไปไกลกว่ากำไรในอนาคตซะอีก ถ้าบริษัททำผลงานได้ดีจริงหลายตัวก็ยืนอยู่ได้ แต่อีกหลายตัวที่ทำไม่ได้จริง ราคาหุ้นก็ร่วงกลับมาต่ำกว่า IPO มีให้เห็นกันมากมาย
 

เรื่องที่ต้องระวัง คือ

1.เข้ามาในจังหวะกำไรพีคพอดี

ไม่รู้ว่าบังเอิญหรือตั้งใจ หลายครั้งเรามักจะเห็นว่าจังหวะที่หุ้นเข้าตลาดมา กำไรมักจะดูดี กระโดดขึ้นไปมาก พอคำนวณ Trailing P/E ก็เลยดูเหมือนว่าต่ำ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ และที่แย่ไปกว่านั้น คือ ไตรมาสต่อมา กำไรลดฮวบด้วยหลายสาเหตุ เช่น ลูกค้าสต๊อกไปเยอะล่วงหน้า กำไรที่ผ่านมาได้โปรเจ็กต์ใหญ่ กำไรดีเพราะได้งานมาร์จิ้นสูง เพิ่งหมด BOI พอดี เป็นต้น เราก็ต้องพิจารณาให้ละเอียดขึ้นว่า หุ้นผ่านจุดที่ดีที่สุดไปแล้วหรือยัง

2.แผนการลงทุนไม่ชัดเจน มีแต่เงินทุนหมุนเวียน

การระดมทุนที่ดี คือ การต่อยอดให้ธุรกิจเติบโต สร้างกำไรได้มากขึ้น แต่ถ้าเข้าตลาดมายังไม่ชัดเจนว่าจะเอาไปทำอะไร สร้างโรงงานใหม่มั้ย หรือแค่เพิ่มเครืองจักรพอ หรือจะไปซื้อกิจการเข้ามา พอแผนไม่ชัด ก็เอาเงินไปชำระหนี้บางส่วน เอามาใส่ในเงินทุนหมุนเวียนที่เหลือ แบบนี้ก็จะไม่ดี เพราะขาดความชัดเจนในแผนการเติบโต

3.กู้เงินมาปันผล แล้วเอาเงิน IPO ไปคืนหนี้

หลายบริษัทชอบปันผลให้เจ้าของ ให้ผู้ถือหุ้นเดิม ถามว่า ผิดมั้ย ก็ไม่นะ เพราะเป็นสิทธิ์โดยชอบธรรมที่พวกเขาทำงานกันมาตั้งแต่เริ่มต้น ก็เอากำไรออกไปก่อน แล้วพอเข้าตลาดก็นับหนึ่งใหม่ แต่หลายครั้งที่เราเจอ คือ กำไรสะสมเดิมก็จ่ายปันผลไปแล้ว  แต่ยังไปกู้เงินมาเพิ่มอีก แล้วเอามาจ่ายปันผลให้ตัวเองเพิ่ม พอระดมทุนเข้าตลาด ก็เอาเงินใหม่ที่ได้มาไปจ่ายคืนหนี้ธนาคาร แบบนี้ก็อาจจะเรียกได้ว่า เอาเปรียบกันเกินไปหน่อย

4. เจ้าของแบ่งขายหุ้นตอนเข้าตลาด

บางครั้งเราเห็นชื่อเจ้าของและครอบครัวถือหุ้นเยอะและไม่ขายเลย แต่ก็จะมีชื่อภาษาอังกฤษคล้ายๆ ชื่อกองทุนจดทะเบียนที่ต่างฮ่องกง สิงคโปร์ หมู่เกาะบริติช เวอร์จิน เป็นต้น แล้วพอเข้าตลาด กองทุนนี้ก็จะขายหุ้นออกมาในราคา IPO บางทีขายทำกำไรเอาเงินไปใช้บ้าง บางทีขายเพิ่มสภาพคล่อง เพราะไม่อยากออกหุ้นใหม่เยอะ เดี่ยวเกิด dilution effect มากเกินไป แต่ก็เป็นเรื่องที่เราต้องระวังมากขึ้น และต้องตั้งคำถามถึงเจตนาในการขายหุ้น

 

ที่มา :   เพจ 𝗟𝗶𝗯𝗲𝗿𝗮𝘁𝗼𝗿

Written by: #StockVitamins x #Liberator