เงินเฟ้อไทย ตามการเปิดเผยของนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย ในเดือนธันวาคม 2566 เท่ากับ 106.96 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2565 ที่เท่ากับ 107.86 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป หดตัว( YOY) 0.83% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งเป็นการหดตัวต่ำสุดในรอบ 34 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564
ปัจจัยสำคัญมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า ตามนโยบายลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานของรัฐบาล รวมทั้งเนื้อสัตว์และเครื่องประกอบอาหารที่ราคาลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ ผักสดราคาลดลงค่อนข้างมาก สำหรับสินค้าและบริการอื่น ๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 0.58%
ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2566 สูงขึ้นเล็กน้อยเพียง 1.23% ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในช่วง 1.0 – 1.7% ค่ากลาง 1.35%
ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ( ASPS) เผยได้ลองทำ Sensitivity Analysis เพื่อหาอัตราการเพิ่มของ CPI ที่จะทำให้เงินเฟ้อขึ้นไปแตะกรอบบนที่ 3% พบว่า ต้องเห็นการเพิ่มขึ้นของ CPI ในอัตรา 0.3% MoM จึงจะทำให้เงินเฟ้อปลายปี 2567 แตะระดับ 3% ซึ่งประเมินจากปัจจัยแวดล้อมที่เป็นอยู่น่าจะเกิดขึ้นได้ยาก และหากเงินเฟ้อไทยอยู่ในระดับต่ำเช่นนี้ เชื่อว่าจะเปิดทางให้ กนง. สามารถดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายได้ง่ายขึ้น พร้อมๆ กับการมีมาตรการทางการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งก็น่าจะทำให้ภาพเศรษฐกิจและตลาดหุ้นปีมังกรดูดีขึ้น
ดังนั้นฝ่ายวิจัยฯ ได้รวบรวมหุ้นได้ประโยชน์จากอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง ใน 5 กลุ่มหุ้น จำนวน 22 หุ้น ดังนี้
1. กลุ่มค้าปลีก : บมจ.ซีพี ออลล์ ( CPALL), บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น ( CRC), บมจ.คอมเซเว่น (COM7), บมจ. เอส พี วี ไอ (SPVI) และ บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ ( HMPRO )
2. กลุ่มอาหารและสินค้าความงาม : บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF), บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU), บมจ. เถ้าแก่น้อย ฟู้ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง (TKN), บมจ.อาฟเตอร์ ยู (AU), บมจ.ดีโอดี ไบโอเทค (DOD) และ บมจ.เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ ( MEGA )
3.กลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม : บมจ. ท่าอากาศยานไทย ( AOT), บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ( MINT) , บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซ (CENTEL) และ บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW)
4.กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ : บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN), บมจ.ศุภาลัย ( SPALI), บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH) และ บมจ.บริทาเนีย ( BRI)
5.กลุ่มเช่าซื้อ : บมจ.เมืองไทย แคปปตอล ( MTC), บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) และ บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD)