หยวนต้า วิเคราะห์ หุ้นกู้ไทย ปี 67 ยังลงทุนได้ ตาดีได้ ตาร้ายเสี่ยง

13 ม.ค. 2567 | 01:46 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ม.ค. 2567 | 01:50 น.

หยวนต้า วิเคราะห์ หุ้นกู้ไทยปี 67 ยังลงทุนได้ แนะนำนักลงทุนเลือก Investment Grade เสี่ยง Default แค่ 1% จับตาธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย กดดันบอนยิวด์ ปรับตัวลดลง

นายณัฐ ตรีพูนสุข ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับฐานเศรษฐกิจว่า จากกรณีที่สยามนุวัตรประกาศขอเลื่อนจ่ายหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2567 มูลหนี้รวม 520 ล้านบาท ไปเป็นปี 2568 นั้น อาจจะสร้างความตกใจให้ตลาดเล็กน้อย เพราะไม่ได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 

ขณะเดียวกันกรณีของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ (ITD) ที่เตรียมเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อขอยืดการชำระหนี้เงินต้นออกไปอีก 2 ปี เนื่องมีปัญหาการขาดสภาพคล่อง ก็ไม่ได้ส่งผลต่อตลาดโดยรวม เพราะ ITD เริ่มส่งสัญญาณตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว ความเสี่ยงจะต้องติดตามต่อว่าต่อจากนี้ ITD จะสามารถกลับมาหารายได้หรือมีเม็ดเงินจากการลงทุนกลับมาจากโครงการต่าง ๆ 

ทั้งนี้ หุ้นกู้ปี 2567 จะมีครบกำหนดชำระราว 9.7 แสนล้านบาท หรือมูลค่าเฉียด 1 ล้านล้านบาท มองว่า ไม่ได้มีความเสี่ยงทุกตัวเหมือนกรณีที่ผ่านมา โดยเฉพาะผู้ที่จะลงทุนในตลาดตราสารหนี้ หากเลือกบริษัทที่มีเครดิตเรตติ้ง BBB ขึ้นไป (Investment Grade) มีโอกาสที่จะผิดนัดชำระ (Default) เพียงแค่ 1% เท่านั้น

ขณะเดียวกันนักลงทุนควรศึกษางบดุลของบริษัทที่จะเข้าลงทุนใน 4 ด้านนี้ ได้แก่ บริษัทนั้น มีลูกหนี้การค้ามากขึ้นเร็วผิดปกติหรือไม่ , มีหนี้สินเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่ , กระแสเงินสดจากการดำเนินงานติดลบหรือไม่ และการดูหมายเหตุประกอบงบ หากไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ถือว่าไม่ผิดปกติ สามารถลงทุนได้

ทั้งนี้ หากนักลงทุนสนใจลงทุน ลองดูรายอุตสาหกรรมได้ เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ส่วนมากจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นักลงทุนสามารถเข้าไปดูในรายละเอียดงบการเงินได้ไม่ยาก จากนั้นวิเคราะห์ข้อมูลตามหบักเกณฑ์ที่กล่าวไป ส่วนอีกกบุ่มคือสถาบันการเงิน (Finance) แนะนำ ให้เลือกที่ Investment Grade

อย่างไรก็ตาม การลงทุนหุ้นกู้ในปีนี้ แนะนำไม่ต้องเน้นการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูง (Search For Yield) แต่แนะนำให้ลงแบบปลอดภัยและให้ผลตอบแทนสมเหตุสมผลมากกว่า 

สำหรับกรณีการผิดนัดชำระหุ้นกู้ของไทยที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ ยืนยันไม่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน โดยก่อนหน้สนี้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้อตราสารหนี้ไทยมากพอสมควร เพราะอัตราดอกเบี้ยของไทยเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อแล้ว ถือว่ามีความน่าสนใจ

โดยประเด็นที่ต้องติดตามคือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วงใด เบื้องต้นเชื่อว่า เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง จากนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็อาจจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตาม ก็จะทำให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรลดลงได้ 

ขณะที่ความท้าทายของหุ้นกู้ในปีนี้ บริษัทที่มีเครดิตเรตติ้งต่ำกว่า BBB อาจจะมีความเสี่ยงที่ Roll Over ไม่ครบ ต้องดูว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร อาจจะกู้เงินเพิ่ม หรือไม่ก็ต้องขายสินทรัพย์บางประการ ส่วนปัจจัยบวก จะเป็นการที่ ธปท. ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็จะช่วยให้บริษัทต่าง ๆ คลายความตึงเครียดพอสมควร