นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่า กรณีที่ทางบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า บริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ จำนวน 5 ชุด วงเงินรวม 16,119.72 ล้านบาท ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อขอผ่อนผันเงื่อนไขในข้อกำหนดหุ้นกู้ ก่อนการประกาศผลประกอบการประจำปี 2566 นั้น มองว่าด้วยธุรกิจของ TU ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ธุรกิจทูน่า อาหารกระป๋อง อาหารทะเลแช่เยือกแข็งยังมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดี
เพียงแต่การปลดล็อกถอนหุ้นออกจาก Red Lobster อาจมีผลกระทบทำให้ TU ขาดทุนหนัก ทั้งนี้ หากว่าจะลงทุนใน TU มองว่าอาจต้องรอให้มีการประกาศงบไตรมาส 4/2566 ไปก่อน เนื่องจากคาดการณ์ว่างบไตรมาสมาสสุดท้ายของปี 2566 จะออกมาไม่ดีนักเพราะขาดทุนหนัก อีกทั้งไม่ใช่ซีซันนัลของธุรกิจ แต่คาดว่าผลการดำเนินงานในปี 2567 จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นอย่างไรก็ดี ทางฝ่ายแบ่งการลงทุนออกเป็น 2 ขา ได้แก่ 1. ซื้อหุ้น TU หลังจากที่มีการประกาศงบไตรมาส 4/2566 ออกมาแล้ว และ 2. แบ่งไม้แรกไปซื้อในช่วงที่ราคาหุ้นอ่อนตัวลงมาแตะที่ระดับ 14.50 บาท โดยประเมินราคาเป้าหมายปี 2567 ไว้ที่ระดับ 15.50 บาท
นายวิกิจ ถิรวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มองว่า TU ก็มีความน่าสนใจ โดยในส่วนของธุรกิจหลักยังมีการขยายตัวที่ดีอยู่ และมองปัจจัยบวกจากการที่ตัดเนื้อร้ายขายธุรกิจร้านอาหาร Red Lobster นับเป็นเชนอาหารทะเลชื่อดังจากอเมริกา ที่มีสาขามากกว่า 700 แห่ง ทำให้ TU จะหยุดรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากร้าน Red Lobster จากการขายหุ้นที่ถือออกทั้งหมด ซึ่งมองว่าการเจ็บครั้งนี้ถือเป็นการจบ
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อนหน้านี้ว่า บริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ จำนวน 5 ชุด วงเงินรวม 16,119.72 ล้านบาท ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อขอผ่อนผันเงื่อนไขในข้อกำหนดหุ้นกู้ ก่อนการประกาศผลประกอบการประจำปี 2566 โดยในการประชุมผู้ถือหุ้นกู้นี้ บริษัทจะขอผ่อนผันเป็นการเฉพาะคราว เพื่อไม่นับรวมรายการผลขาดทุนจากการด้อยค่าตามหลักการทางบัญชี เพื่อการคำนวณอัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ย และการคำนวณเงินปันผลที่สามารถจ่ายได้ตามเงื่อนไขการจ่ายเงินปันผล จากงบการเงินรวมปี 2566
โดยเมื่อหักรายการผลขาดทุนจากการด้อยค่าตามหลักการทางบัญชี ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทฯ ดังกล่าว ผลประกอบการของบริษัทยังคงแข็งแกร่ง นอกจากนี้ บริษัทฯ ขอเรียนว่าในกรณีที่บริษัทฯ ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับผู้ถือหุ้นกู้ได้ บริษัทฯ มีสภาพคล่องทางการเงิน ตลอดจนวงเงินสินเชื่อที่รองรับเพียงพอที่จะทำการไถ่ถอนบางส่วนหรือทั้งหมดของหุ้นกู้ที่ไม่ได้รับความยินยอมได้
การเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567ประกาศแผนถอนการลงทุนใน Red Lobster Master Holdings, L.P. (RLMH) ในระหว่างที่บริษัทฯ ศึกษาช่องทางที่เป็นไปได้ในการถอนการลงทุนนี้ บริษัทฯ จะบันทึกรายการด้อยค่าที่ไม่ใช่เงินสดครั้งเดียว จำนวนประมาณ 18,500 ล้านบาท (ประมาณ 530 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ) ในไตรมาส 4/2566
อย่างไรก็ดี ทางคณะกรรมการบริษัทมีความเห็นว่า บริษัทยังมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและการบันทึกรายการด้อยค่าที่ไม่ใช่เงินสดครั้งเดียวนี้ จะไม่มีผลกระทบในทางลบอย่างมีนัยสาระสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ ทรัพย์สิน หรือสภาวะทางการเงินของบริษัท แต่รายการดังกล่าวส่งผลกระทบต่ออัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ย และข้อจำกัดการจ่ายเงินปันผลซึ่งเป็นข้อกำหนดภายใต้หุ้นกู้บางชุดที่ออกโดยบริษัทก่อนหน้านี้ ซึ่งบริษัทจะดำเนินการเพื่อผ่อนผันเงื่อนไขดังกล่าวกับผู้ถือหุ้นกู้ก่อนการประกาศผลประกอบการในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นี้