โบรกห่วง ปี 67 รัฐกู้เงินมหาศาล แย่งเม็ดเงินในระบบ กระทบเอกชน

08 ก.พ. 2567 | 08:55 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.พ. 2567 | 08:57 น.

โบรกมอง กนง. คงดอกเบี้ย 2.5% ไม่กระทบต้นทุนการเงินตลาดหุ้น หุ้นกู้ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า 3-5% แต่หากรัฐบาลฯ เดินหน้ากูเงินจำนวนมากดึงเม็ดเงินในระบบกระทบเอกชน ความเสี่ยงที่บาทอ่อนค่าหนัก ฉุดฟันด์โฟลวไหลออกต่อ ชี้ต่างชาติเมินตราสารหนี้ไทย โอกาสเห็นกลับเข้ามามีน้อย

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า กรณีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ว่าทางคณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดย 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี มองว่าเสียงที่แตกออกมาว่าเห็นชอบที่จะให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้น ทำให้นักลงทุนตีความว่ามีโอกาสที่จะได้เห็นความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมในครั้งต่อไป หรืออย่างช้าไม่เกินปลายปี 2567 นี้ และทำให้ตลาดมองว่ากลไกการลดดอกเบี้ยจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป

ทางฝ่ายมองว่าแม้การลดดอกเบี้ยจะส่งผลดีต่อกลุ่มการเงินโดยเฉพาะไฟแนนซ์เพราะทำให้มีต้นทุนที่ลดลง แต่ก็คาดว่าผลดีอาจยังไม่ปรากฎให้เห็นสำหรับกลุ่มไฟแนนซ์เร็วขนาดนั้น และนักลงทุนอาจยังต้องให้ความระมัดระวังในการลงทุนอยู่ เนื่องจากลุ่มไฟแนนซ์ยังไม่ได้มีการประกาศงบไตรมาส 4/2566 และทั้งปี 2566 ออกมาให้เห็น และยังมองว่ามีความเสี่ยงทั้งในเรื่องของการตั้งสำรอง ความเสี่ยงคุณภาพสินทรัพย์ เนื่องจากตลาดรถมือสองราคาต่ำมาก ดังนั้น การฟื้นตัวของราคาหุ้นจึงมีกรอบที่จำกัด

ขณะที่กลุ่มแบงก์ มองว่าการลดดอกเบี้ยจะเป็นผลในเชิงลบมากกว่า เพราะปกติแบงก์จะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งในตอนนี้ก็ใกล้ถึงจุดที่จะปรับตัวลงแล้ว ทำให้น้ำหนักในการลงทุนเดิมที่มากกว่าตลาดหรือเท่ากับตลาด อาจต้องปรับลงด้วยเช่นกัน ประกอบกับคาดว่า NIM น่าจะสูงสุดในไตรมาส 1/2567 หลังจากนั้นจะค่อยๆ ปรับตัวลง ดังนั้น คำแนะนำการลงทุนในระยะสั้น 1-2 สัปดาห์จากนี้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นก็มองเป็นโอกาสที่จะทยอย "ขาย" ทำกำไรกลุ่มนี้

ทั้งนี้ จากการที่นักลงทุนกังวลว่าการที่ทาง กนง. คงดอกเบี้ยไว้ที่เดิมที่ 2.5% จะเป็นผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชนและทำให้ต้นทุนทางการเงินของหุ้นกู้เพิ่มขึ้นนั้น ทางฝ่ายมองว่าไม่กระทบต่อต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชน เพราะจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาต้นทุนของตลาดสูงเกินกว่าระดับนี้มาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะตลาดหุ้นกู้ที่นักลงทุนได้ผลตอบแทนสูงกว่า 3-5% ซึ่งมองว่าในตลาดตราสารหนี้ไมยเงินลงทุนต่างชาติจะกลับมาหรือไม่นั้นอาจขึ้นอยู่กับอัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรสหรัฐฯ มากกว่า

ในส่วนผลกระทบที่มีต่อตลาดหุ้นก็มองว่าอาจจะไม่ได้เยอะมากอย่างที่กังวลกัน เพราะดอกเบี้ยเข้าสู่วัฏจักรสูงสุดมาระดับนึงแล้ว ดอกเบี้ยสหรัฐฯ ก็เช่นเดียวกัน ทำให้คาดว่าในระยะข้างหน้ามีโอกาสที่จะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยลง แต่สิ่งที่ต้องรับมือต่อจากนี้คือความเสี่ยงในเรื่องของความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่า นับถอยหลังไปปี 43 หลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง จะเห็นได้ว่าดอกเบี้ยมีวงที่กว้างคล้ายคลึงกับปัจจุบัน ฟันด์โฟลว์ไหลออกต่อเนื่อง

ซึ่งในขณะนั้นเงินบาทอ่อนค่าไปถึงระดับ 37-45 บาท/ดอลลาร์ แต่ในรอบนี้มองว่าบาทคงไม่อ่อนลงมากขนาดนั้น และคงไม่แย่ เพราะเมื่อเทียบหนี้สินต่อทุนภาพรวมทั้งตลาดอยู่ที่เฉลี่ยราว 2-3 เท่า สะท้อนถึงความแข็งแรงของ ซึ่งบาง บจ. หนี้สินต่อทุนอาจน้อยกว่านั้นด้วยซ้ำ แต่ในช่วงหลังเกิดวิฤกตต้มยำกุ้ง หนี้สินต่อทุนรวมๆสูงกว่า 9 เท่า

มองว่าต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชนจะมีความเสี่ยงก็ต่อเมื่อรัฐบาลมีนโยบายกู้เงินจำนวนมาก โดยในตอนนี้รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องหาเงินชดเชยขาดดุล ในปีงบประมาณ 2567 กว่า 6 แสนล้านบาท รวมถึงการกู้เงินเพื่อใช้รองรับโครงการดิจิทัลวอลเลตอีกประมาณ 5 แสนล้านบาท รวมเป็น 1.1 ล้านล้านบาท มองว่าจะทำให้เกิดการแย่งเม็ดเงินในระบบและแน่นอนว่าจส่งผลกระทบเชิงลบต่อต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชน คงต้องจับตารอดูต่อไปว่าโครงการดิจิทัลวอลเลตจะสามารถเดินหน้าได้ต่อหรือไม่

ส่วนกระแสเงินทุนของต่างชาติ มองว่าคงไม่กลับมา แม้ว่าในช่วง 4 วันทำการแรกของเดือนกุมภาพันธ์ 2567 จะเห็นฟันด์โฟลว์กลับเข้ามาบ้าง ราวๆ 7,000 ล้านบาท แต่ก็มองว่าเป็นการกลับมาแบบระยะสั้น และจะมาในตลาดหุ้นเป็นหลัก ในขณะที่ตลาดตราสารหนี้ยังมีแนวโน้มขายสุทธิต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาขายออกไปแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท และในปีก่อนขายสุทธิรวมทั้งสิ้นมากกว่า 2 แสนล้านบาท

และการกลับเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้จากนี้มองว่าคงเป็นเรื่องยากแล้ว เพราะเทียบกับตลาดตราสารหนี้ของสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดใหญ่ ให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูง สอดคล้องตามการนโยบายดอกเบี้ยที่ FED คงไว้ที่ระดับ 5.25%-5.50% ทำให้ผู้ลงทุนเห็น Capital Gain ดังนั้นจึงเห็นโอกาสการกลับเข้ามาลงทุนตราสารหนี้ในไทยน้อยมาก เพราะ Upside ของไทยมีน้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายประมาณการว่าดัชนี้ตลาดหุ้นไทยในปี 2567 นี้ อาจกลับขึ้นไปแตะที่แนวต้าน 1600 จุดได้ แต่หากตัดเผื่อผลตอบแทนธนบัตรสูงแล้วกรอบการซื้อขายทั้งปีนี้จะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 1300-1500 จุด โดยต่ำกว่า 1400 จุด สามารถเทรดได้ แต่หากขึ้นไป 1450 จุดแล้วก็อาจจะมีจังหวะที่เข้าได้ยากขึ้น

สำหรับลงทุนในปัจจุบัน แนะนำให้เลือกเล่นหุ้นที่มีการฟื้นตัวรายกลุ่ม โดยที่ชัดเจนมากๆ คือกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ได้แก่ AOT AAV BAFS ERW SPA และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ BDMS กลุ่มที่ได้รับอนิส่งส์จากบาทอ่อนค่า เช่นกลุ่มอาหาร TU CPF BTG แม้คาดการณ์ว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/2566 ของกลุ่มอาหารอาจมีการรายงานผลขาดทุนทั้งหมด ต่างกันที่เหตุผล แต่คาดว่าจะกลับมา Turn aroud ในปี 2567 และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์