KEY
POINTS
นางพิทยา วรปัญญาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผยในงาน "Opportunity Day" ว่า ประเด็นที่ทางสภาพัฒน์ ได้มีการเสนอแนะให้ทาง ธปท. ทบทวนเกณฑ์ชำระหนี้ขั้นต่ำ 5% เพื่อดูแลหนี้ครัวเรือน โดยทำอย่างจริงจังเห็นผลชัดเจนมากขึ้น เพราะตอนนี้มาตรการของรัฐทุกอย่างหมดลงแล้ว จึงต้องใช้นโยบายการเงินเข้ามาดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติม มองว่าหากทาง ธปท. มีการปรับลดลงจริงจะเป็นผลดีกับลูกหนี้อย่างมาก เพราะจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลง อย่างไรก็ดีลูกค้าส่วนมากของ KTC มีการชำระเกินกว่า 5% อยู่แล้ว
ส่วนการติดตามทวงถามหนี้ในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2567 ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเป็นปกติ ยังสามารถเรียกถามและติดตามได้ ในกรณีที่ลูกค้าไม่ปัญหาอาจมีการชำระล่าช้ากว่าปกติ ทางบริษัทก็มีมาตรการเข้าไปช่วยเหลือและหาทางเลือกให้กับลูกค้าในกลุ่มนี้ เพื่อบรรเทาความยากลำบากในช่วงที่เศรษฐกิจยังชะลอตัวอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่บริษัทเองก็เข้าใจดีว่าลูกค้าไม่ได้มีความตั้งใจที่จะไม่จ่ายจริง เพียงแต่สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย สำหรับอัตราหนี้สงสัยจะสูญ (NPL) ไม่สูงกว่าปีก่อน และคงความสามารถในการรักษาระดับไว้ที่ไม่เกิน 2.2%
แผนการดำเนินงานในปี 2567 บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตของพอร์ตรวมไว้ที่ไม่น้อยกว่า 10% ต่อเนื่องจากปีก่อน ในส่วนของธุรกิจบัตรเครดิตเคทีซี บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตไม่น้อยกว่า 15% จากปีก่อน โดยบริษัทยังคงเดินหน้าออกแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายใหม่ๆ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง และจะมุ่งเน้นขยายฐานกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 50,000-100,000 บาทต่อเดือนให้มากขึ้น เพราะมองว่าเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และมีคความสามารถในการชำระคืนที่สูง
โดยบริษัทตั้งเป้ามีสมาชิกบัตรใหม่เพิ่มขึ้น 230,000 ใบ และมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโต 15% จากปี 2566 ปัจจุบันมีจำนวนบัตรกว่า 2.6 ล้านบัตร และจำนวนลูกค้าที่ 2.6 ล้านคน ทั้งนี้ ยอดการใช้จ่ายบัตราเครดิตในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ยังคงมีแนวโนมการขยายตัวที่ดี แบบตัวเลขหลักเดียว แต่ก็ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่บริษัทวางไว้ 15% มองว่าเป็นปกติของไตรมาสแรกของปี ลูกค้ายังไม่มีความต้องการในการใช้จ่าน เพราะได้รับโบนัสทำให้มีสภาพคล่องทางการเงิน และคาดว่าผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตและสินเชื่อต่างๆ จะกลับมาขยายตัวดีขึ้นในไตรมาส 2/2567 เป็นต้นไป
ขณะที่ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ยังเป็นธุรกิจที่เน้นการเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับการบริหารพอร์ตสินเชื่อคุณภาพ โดยในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าเติบโต 5% จำนวนสมาชิกบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” เพิ่มขึ้น 100,000 ราย สำหรับธุรกิจสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” บริษัทตั้งเป้ายอดอนุมัติสินเชื่อใหม่ปี 2567 ไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้บริษัทได้เพิ่มผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ ได้แก่ สินเชื่อทะเบียนรถบิ๊กไบค์ ที่ปัจจุบันมีการขยายแบรนด์รถครบ 6 แบรนด์แล้ว และผลิตภัณฑ์สินเชื่อรีไฟแนนส์รถ รวมถึงบัตรกดเงินสด เคทีซี พี่เบิ้ม อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการปี 2566 ให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 1.27 บาท รวมเป็นเงินปันผลจำนวนทั้งสิ้น 3,274.48 ล้านบาท โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 17 เมษายน 2567 และกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิในการรับเงินปันผลวันที่ 18 เมษายน 2567 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 3 พฤษภาคม 2567