หลังจากที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการเรื่อง "มาตรการยกระดับความเชื่อมั่น เรื่อง short selling และ program trading รวมถึงมาตรการเพิ่มการเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณชน" โดยตลท.เตรียมออกมาตรการใหม่เพิ่มเติม แบ่งเป็น 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.มาตรการเกี่ยวกับการลดความผันผวนที่ผิดปกติของราคาหลักทรัพย์ 2.มาตรการเกี่ยวกับการกำกับดูแลพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม และ 3.มาตรการที่เป็นการเพิ่มความคุ้มครองผู้ลงทุน
นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมาย และหัวหน้ากลุ่มงานเลขานุการองค์กรและกำกับองค์กร ในฐานะโฆษกตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวถึงความคืบหน้า การบังคับใช้มาตรการกำกับดังกล่าวข้างต้นว่า ไทม์ไลน์ในการออกกกฏเกณฑ์ของตลท. แบ่งเป็น 5 ขั้นตอนคือ
"หลาย ๆมาตรการสามารถดำเนินได้ทันที อาทิเรื่องการปรับคุณสมบัติของหุ้นที่สามารถขายชอร์ตได้ หรือเพิ่มขนาดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดขั้นต่ำ (market capitalization) จากเดิม 5,000 ล้านบาท เป็น 7,500 ล้านบาท, เพิ่มข้อกำหนดเกี่ยวกับการพิจารณาสภาพคล่องของหุ้น โดยกำหนดให้หุ้นนั้นจะต้องมีสัดส่วนปริมาณการซื้อขายต่อเดือนเมื่อเทียบกับปริมาณหุ้นจดทะเบียน (monthly turnover) แล้วมากกว่า 2% ซึ่งถือเป็นเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ไม่เกินไตรมาส 2/67 หรือเรื่องการเพิ่มระวางโทษปรับให้สูงขึ้นจากเดิม 3 เท่า ทำได้เพียงการแก้เกณฑ์
ส่วนที่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาระบบ อาทิเรื่องการเพิ่ม Circuit braaker เป็นรายหุ้น +-/10% ของราคาซื้อขายล่าสุด หรือที่เรียกว่าการนำ dynamic price brand มาใช้เพื่อลดความผันผวน เรื่องการจัดให้มี Central Platform ในการเช็คหลักทรัพย์ ตรวจสอบการมีอยู่ของหลักทรัพย์ของผู้ลงทุนก่อนขาย และมาตรการเกี่ยวกับการกำกับดูแลพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม ในเรื่องของการเพิ่ม Auto halt รายหุ้น เป็นต้น คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในครึ่งปีหลังนี้ เพราะเป็นเรื่องของการเตรียมพร้อมเรื่องระบบจึงต้องใช้เวลาในปรับปรุงระบบ เราอยากทำทุกมาตรการให้เร็วที่สุด ต้องดูความพร้อมของสมาชิก จุดประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ "
พร้อมกันนี้ได้ขยายความ มาตรการการเพิ่มโทษปรับต่อสมาชิกเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 3 เท่า โดยยกตัวอย่าง กรณี Naked Short Selling :
1.กรณีขายหลักทรัพย์โดยที่สมาชิกหรือลูกค้ายังไม่มีหลักทรัพย์นั้นอยู่ในครอบครอง และ"รายงานตามเกณฑ์ของ ตลท." : บทลงโทษตามเกณฑ์ใหม่ จะปรับเป็น 3 เท่าของกำไรที่ได้รับ แต่ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท , จากเกณฑ์เดิม ปรับเท่ากับกำไรที่ได้รับ
2.กรณีขายหลักทรัพย์โดยที่สมาชิกหรือลูกค้ายังไม่มีหลักทรัพย์นั้นอยู่ในครอบครอง และ"ไม่ได้รายงานตามเกณฑ์ของ ตลท." เกณฑ์ใหม่ : ปรับเป็น 3 เท่าของกำไรที่ได้รับ แต่ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท และปรับเพิ่มอีกไม่เกิน 1.5 แสนบาท ขณะที่เกณฑ์เดิม : ปรับเท่ากำไรที่ได้รับ และปรับเพิ่มอีกไม่เกิน 5 หมื่นบาท
"คุมหุ้นร้อน" เพิ่มมาตรการการซื้อขายแบบ Auction
ส่วนในเรื่องการเพิ่มมาตรการลดความผันผวนที่ผิดปกติของราคาหุ้นด้วยการเพิ่มมาตรการการซื้อขายแบบ Auction สำหรับหุ้นที่อยู่ในมาตรการกำกับการซื้อขาย จากปัจจุบันที่สามารถซื้อขายแบบจับคู่อัตโนมัติ ตลาดหลักทรัพย์ได้วางแนวทางการดำเนินการ คือ เปิดจับคู่ซื้อขายวันละ 3 รอบ (Pre-open1, Pre-open และ Pre-Close) โดยสุ่มเวลาจับคู่เหมือนหุ้นปกติ ขณะที่ช่วง Break 1 และ Break 2 ไม่เปิดให้ส่ง Order แต่สามารถ Update / Cancel order ได้ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในครึ่งปีหลังนี้
ด้านนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่ามาตรการกำกับเข้มการขายชอร์ต และการใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขาย หรือโปรแกรมเทรดดิ้ง เชื่อว่าจะได้รับผลตอบรับเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับตลาดและนักลงทุน เพราะเราไม่ใช่แค่ใช้มาตรการใดมาตรการหนึ่ง แต่ได้เพิ่มความเข้มข้นและหลายสเต็ป อาทิการเพิ่ม Circuit braker เป็นรายหุ้น +-/10% ของราคาซื้อขายล่าสุด การนำ dynamic price brand มาลดความผันผวนของราคา ไม่ให้ราคาเคลื่อนไหวได้มาก และถ้าทรานเซ็กซั่นไม่เหมาะสมก็สามารถที่จะให้หยุด (PAUSE) หรือเพิ่มมาตรการ Auction ใช้เสริมกัน
อย่างไรก็ดีกรณีการวางเพิ่มบทระวางโทษกรณที่กระทำผิด เรื่อง Naked Short Selling การจะเพิ่มมาตรการโทษปรับให้แรงขึ้นใกล้เคียงประเทศอื่น ๆ ปัจจุบัน ตลท.ยังมีข้อจำกัด จะทำได้เฉพาะ บจ. และบริษัทหลักทรัพย์ ที่มีนิติสัมพันธ์กับตลท.เท่านั้น นอกเหนือจากนี้อยู่ในขั้นตอนที่จะดำเนินการต่อไป