แม่ทัพใหญ่ "อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา" ชูผลงานทุบสถิติสูงสุดใหม่

04 มี.ค. 2567 | 11:02 น.

JMART วางเป้าปี 67 ผลงานทุบสถิติหม่สูงสุด ชู JMT ดาวเด่นในกลุ่ม อวดเงินหนาเพียงพอรองรับซื้อหนี้ใหม่ตุนพอร์ต ขณะที่ SINGER ผลงานเริ่มกลับมาฟื้นตัวในทางที่ดีขึ้น รายได้แตะ 1.5 พันล้าน โต 2 เท่าจากปีก่อน ฟุ้งไม่ต้องตั้งสำรองสูงเหมือนปีก่อนแล้ว

นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จํากัด (มหาชน) หรือ JMART เปิดเผยว่า แนวโน้มผลประกอบการในปี 2567 บริษัทคาดว่าจะสามารถทำสถิติสูงสุดใหม่ได้ จากการเติบโตของธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ และบริษัทในกลุ่ม โดยเฉพาะธุรกิจ JMT ที่คาดทำนิวไฮทั้งในแง่ของการจัดเก็บกระแสเงินสดและกำไร รวมถึง SINGER ที่คาดผลงานจะฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปีก่อน

ด้านธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ เจมาร์ท โมบาย (JMB) บริษัทมองว่าแนวโน้มไตรมาส 1/2567 ยอดขายจะเติบโต 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 12% จากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเนื่องจากได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากโครงการ Easy E-Receipt ช่วยหนุนให้ยอดขายปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการเปิดตัวสินค้าใหม่ ทำให้ลูกค้ามีการตัดสินใจซื้อที่มากขึ้น และบริการสินเชื่อ Samsung Finance+ ที่จะรักษาระดับการเติบโตต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ตั้นปีจนถึงปัจจุบันยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ Samsung Finance+ ทำได้แล้วกว่า 150 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ บริษัทยังมีปัจจัยหนุนจากการรับรู้กำไรจากการเข้าลงทุนในบริษัทต่างๆ โดยคาดว่าในปี 2567 จะรับรู้กำไรส่วนนี้ราว 950 ล้านบาท ขณะที่การเข้าลงทุนในบริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด (BNN) หรือ สุกี้ตี๋น้อย บริษัทคาดว่าผลประกอบการในปีนี้จะเติบโตต่อเนื่องจากปี 2566 ที่มีกำไรสุทธิ 913 ล้านบาท ตามยอดขายที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการขยายสาขาใหม่  โดยในปีนี้สุกี้ตี๋น้อยมีแผนจะขยายสาขาใหม่ในโซนภาคเหนือและอีสาน จำนวน 24 สาขา อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ 3 สาขา อุดรธานี 2 สาขา ขอนแก่น 2 สาขา ระยอง 2 สาขา และจังหวัดชลบุรี เป็นต้น ส่งผลให้สิ้นปีนี้สุกี้ตี๋น้อยจะมีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 79 สาขา จากสิ้นปีก่อนที่ 55 สาขา 

ด้านความคืบหน้าของแผนการนำบริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมและการจัดทำหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) ซึ่งคาดว่าจะยื่นให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ได้ในช่วงปลายไตรมาส 3/2568 หรือต้นไตรมาส 4/2568 และเข้าซื้อขายได้ในช่วงต้นปี 2569
 

*JMTลุยซื้อหนี้เติมพอร์ต

นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT กล่าวว่า สถานการณ์การเก็บหนี้นับตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบัน (ม.ค.-ก.พ.67) มองว่าในขณะนี้ยังไม่ได้มีความโดดเด่นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเนื่องจากเป็นช่วงโลวซีซันของธุรกิจ ทำให้ยอดจัดเก็บกระแสเงินสด (Cash Collection) ยังดูทรงตัว แต่คาดว่าในช่วงไตรมาสต่อๆ ไปจะปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ

ทั้งนี้ บริษัทยังคงมีความสนใจและมีความพร้อมที่จะเข้าเสนอราคารับซื้อมูลหนี้เสียใหม่ ที่ทางสถาบันการเงินทยอยประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเริ่มมีการประกาศขายออกมาบ้างแล้วและบริษัทได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอราคาด้วยเช่นกัน แต่การประกาศผลอาจต้องรอความชัดเจนต่อไป ส่วนคาดการณ์มูลหนี้เสียในระบบในปี 2567 จะมีมากน้อยแค่ไหนนั้นอาจเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก แต่คิดว่าน่าจะเยอะต่อเนื่องจากปีก่อน เนื่องจากยังมีมูลหนี้เสียใหม่ที่สถาบันอยู่ระหว่างการเตรียมปรับโครงสร้างนี้

โดยคาดว่าในช่วงครึ่งหลังปี 2567 นี้ จะมีความโดดเด่นมากกว่า ทั้งในแง่ของการขายมูลหนี้ใหม่ของทางสถาบันการเงิน และมูลหนี้เสียใหม่ที่เข้ามาในระบบ ทำให้คาดว่าการซื้อมูลหนี้ใหม่เข้ามาเติมพอร์จจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งหลังปีนี้และคาบเกี่ยวไปจนถึงต้นปี 2568 สำหรับการเติบโตของพอร์ตมูลหนี้คงค้างในปีนี้ คาดว่าจะยืนเหนือที่ระดับกว่า 500,000 ล้านบาท โดยหากว่าสถาบันประกาศขายนี้เสียออกมาเร็วในช่วงครึ่งปีแรกนี้ ก็อาจทำให้การเติบโตของพอร์ตสูงมากกว่าเป้าหมายที่วางไว้

งบลงทุนในปี 2567 นั้น บริษัทมีเพียงพอรองรับในทุกสถานการณ์ ทั้งแบบปกติ แบบแย่ที่สุด และแบบดีที่สุด ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในสถานการณ์นั้นๆ แหล่งเงินทุนและกระแสเงินสดที่มีอยู่ในมือปัจจุบันมีค่อนข้างมากพอสมควร ส่วนโอกาสในการร่วมทุนกับทางสถาบันการเงินนั้น ในปัจจุบันยังไม่มีดีลใหม่ๆ เพิ่มเติม สำหรับการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมทุน JK AMC จะมีเข้ามามากหรือน้อยในปีนี้นั้น อาจขึ้นอยู่กับว่า NPL ของบริษัทแม่มีมากหรือน้อย

*SINGERชูปี67โต2เท่า

นายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER กล่าวว่า ในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายที่ 1,500 ล้านบาท เติบโต 2 เท่าจากปีก่อน ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากขยายช่องทางการขายในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า การเร่งระบายสต๊อกสินค้ามือสองให้มากขึ้น และโครงการ ล็อคโฟน ที่มีแนวโน้มดีต่อเนื่อง

โดยในช่วงไตรมาส 1/2567 บริษัทมีแผนออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และรถจักรยานฟ้า ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ ปี 2567 นี้ บริษัทจะไม่มีการตั้งสำรองจำนวนมากเหมือนเช่นปีก่อนอีกแล้ว ดังนั้น จึงคาดว่าความสามารถในการทำกำไรจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามลำดับ สำหรับการไหลตกชั้นของลูกหนี้ ปัจจุบันลูกหนี้ใน stage 2 (ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ) และ stage 3 (สินเชื่อด้อยคุณภาพ : NPL) ยังอยู่ในระดับทรงตัว เบื้องต้นประเมินสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้น