แม่ทัพหญิง "ปิยจิต" ปักธง SAPPE ปี 67 โต 25% จ่ออัดงบ 2.8 พันล้านอัพแกร่ง

05 มี.ค. 2567 | 05:20 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มี.ค. 2567 | 05:26 น.

SAPPE วางเป้าปี 67 ยอดขายโตต่อเนื่อง 20-25% จากปีก่อน รับอานิสงส์ท่องเที่ยวไทยฟื้นตัว ชี้ไตรมาส 2 เข้าไฮซีซันดันยอดขายพีคสุด วางแผนขอบอร์ดอนุมัติงบ 2.38 พันล้าน เดินหน้าลงทุนอัพแกร่งโรงงานผลิตใหม่-เครื่องจักร หนุนยอดขายปี 69 แตะ 1 หมื่นล้านตามเป้า

นางสาวปิยจิต รักอริยะพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในปี 2567 บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตของยอดขายไว้ที่ไม่น้อยกว่า 20-25% จากปีก่อน และคงเป้าหมายการเติบโตรายได้แตะ 10,000 ล้านบาท ภายในปี 2569 แรงสนับสนุนหลักๆ มาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว อีกทั้งจากการที่ภาครัฐเปิดฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวชาวจีน คาดว่าจะช่วยหนุนยอดขายให้กับบริษัทได้เพิ่มมากขึ้น

โดยในช่วงเดือนมกราคาและกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ยอดขายยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ค่อนข้างดี นับว่ายัง In-line กับเป้าหมายที่บริษัทวางไว้ได้ ในส่วนประเด็นที่ฤดูร้อนในปีนี้มาเร็วกว่าปกตินั้น มองว่าปกติประเทศไทยก็มีสภาพอากาศที่ร้อนเกือบตลอดทั้งปีอยู่แล้ว แต่ก็เชื่อว่าจะช่วยหนุนยอดขายเครื่องดื่มได้ดีขึ้น แต่ตามปกติแล้วอากาศจะร้อนมากในช่วงไตรมาส 2 ของทุกปี ซึ่งปีนี้ก็เช่นเดียวกัน ทำให้เป็นไฮซีซันของธุรกิจ หากว่าไม่มีฝนตกหนักและตกนาน ก็ไม่กระทบต่อยอดขาย

ทั้งนี้ ในปีนี้บริษัทมีแผนออกผลิตภัณฑ์ใหม่อีกประมาณ 20 รายการ (SKUs) จากสิ้นปี 2566 ที่มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ไปแล้ว 17 SKUs โดยบริษัทยังคงให้ความสำคัญในการพัฒนาและคิดค้นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพแบบใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ ปัจจุบันสัดส่วนยอดขายกว่า 89% มาจากต่างประเทศ และราว 11% เป็นสัดส่วนยอดขายในประเทศ

แผนการลงทุนในปี 2567 บริษัทมีการวางงบลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตโดยกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 25% เป็น 44,000 ตันต่อปี โดยจะเริ่มการผลิตได้ในช่วงเดือนมีนาคมนี้ นอกจากนี้ บริษัทจะมีการขออนุมัติเงินลงทุนอีก 2,380 ล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนการสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่ยังอยู่ใกล้กับที่เดิม เพิ่มเครื่องจักรผลิตในโรงงานแห่งใหม่อีก 3 ไลน์ผลิต หรือมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 25-30% จากปีก่อน มูลค่าลงทุนราว 1,630 ล้านบาท ในปี 2568

และรองรับการลงทุนเพิ่มเครื่องจักรไลน์ผลิตใหม่อีก 20-25% จากปีก่อน มูลค่า 750 ล้านบาท ในปี 2569 โดยแหล่งเงินทุนทั้งหมดมาจากกระแสเงินสดในมือที่มาจากการดำเนินงานทั้งหมด และไม่มีการเพิ่มภาระให้กับผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด ขณะเดียวกันบริษัทยังมีความสนใจที่จะเดินหน้าขยายการลงทุนใหม่ๆ โดยมีดีลที่อยู่ระหว่างการเจรจาอยู่ในมือประมาณ 2-3 ดีล ซึ่งมีทั้งรูปแบบของการควบรวมกิจการ (M&A) และการร่วมทุน (JV) คาดได้เห็นข้อสรุปในระยะถัดไป