ธุรกิจเครื่องมือแพทย์ รับอานิสงส์เทรนด์รักสุขภาพมาแรง

14 มี.ค. 2567 | 08:35 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มี.ค. 2567 | 08:58 น.

SMD กางแผนลุยสร้างธุรกิจ New S-curve รับอานิสงส์ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ ความต้องการดูแลรักษาสุขภาพและโรคซับซ้อนมีแนวโน้มเติบโตสูง คาดรายได้ปี 67 แตะระดับ 1.8 พันล้าน

ดร.วิโรจน์ วสุศุทธิกุลกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซนต์เมด จำกัด (มหาชน) หรือ SMD บริษัทการจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจและอุตสาหกรรมในปี 2567 คาดว่าความต้องการดูแลและรักษาสุขภาพยังมีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยปัจจัยเชิงบวกจากที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aging Society) มีอายุยืนขึ้น ทำให้มีความต้องการดูแลรักษาสุขภาพ ความต้องการรักษาโรคต่างๆ ที่มีความยากและซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งเหล่านี้เป็นการดูแลและรักษาสุขภาพที่มีมูลค่าสูง (ไฮมาร์จิ้น)

นอกจากนี้ จากการที่ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้ความต้องการซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคยากและซับซ้อน มีแนวโน้มค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้น สร้างโอกาสในการทำธุรกิจให้เช่าเครื่องมือแพทย์สำหรับรักษาโรคซับซ้อนที่มีมูลค่าสูงกับโรงพยาบาล

ประกอบกับพระราชบัญญัติประกันสังคมเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการรักษาผู้ประกันตนที่เป็นด้วยโรคหยุดหายใจขณะหลับและมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า (CPAP) ให้แก่สถานพยาบาลที่สำนักงานกำหนดสิทธิในการรับบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ประกันตน โดยสามารถเบิกค่าตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาได้ตามอัตรากำหนด ส่งผลให้สินค้าที่บริษัทเป็นผู้จัดจำหน่ายมีความต้องการใช้งานสูงขึ้น โดยเกณฑ์ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่มกราคา 67 ซึ่งหนุนต่อผลการดำเนินงานบริษัท

ทั้งนี้ ในปี 2567 ธุรกิจหลักตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับทางโรงพยาบาล ปัจจุบันยังคงดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ และยังไม่มีแผนที่จะนำเข้าหรือแตกไลน์ผลิตภัณฑ์เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติม ในปี 2567-2568

ทั้งนี้ ในปีนี้บริษัทจะยังมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์เดิมที่มีและเน้นเรื่องการให้บริการบำรุงรักษาเป็นหลัก คาดว่าจะมีรายได้จากธุรกิจหลักในปี 2567-2568 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,000 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้บริษัทยังให้ความสนใจเดินหน้าในการขยายธุรกิจที่เป็น New S-curve ประกอบด้วย

1.บริษัท เสิร์ฟเฮลธ์ จำกัด ซึ่งเป็นที่ให้บริการเครื่องมือทางการแพทย์ ภายใต้แบรน SMDX ซึ่งคาดว่าในปี 2567 จะมีรายได้ที่ประมาณ 600 ล้านบาท และในปี 2568 จะสามารถสร้างรายได้เพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 900 ล้านบาท

2. บริษัท เอสเอ็มดีไอ จำกัด (SMDI) ประกอบธุรกิจธุรกิจ “รังสีวิทยา” (Radiology) เพื่อการวินิจฉัยโรคที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพ คาดว่าในปี 2567 จะมีรายได้ที่ประมาณ 200-300 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 900 ล้านบาท ในปี 2568

จากปัจจัยที่กล่าวไปข้างต้น ส่งผลให้บริษัทคาดว่าการเติบโตของรายได้รวมในปี 2567 จะอยู่ที่ไม่น้อยกว่า 1,800 ล้านบาท และในปี 2568 เพิ่มเป็นมากกว่า 2,800 ล้านบาท ตามการขยายตัวของธุรกิจที่เป็น New S-curve อย่างไรก็ดี ในอนาคต บริษัทจะมีการ Spin-off บริษัทย่อยมาระดมทุนต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม บริษัทตั้งเป้าจะมีเตียงให้บริการศูนย์ตรวจการนอนหลับ 180 เตียง ภายใน 3 ปี โดยในปี 2567 คาดจะมีเตียงเป็น 60 เตียง ปี 2568 เพิ่มอีก 60 และปี 2569 เพิ่มอีก 60 เตียง จากปัจจุบันที่ “ศูนย์ตรวจการนอนหลับ เอสเอ็มดีเอกซ์ คิน-ออริจิ้น” หรือ SMDX KIN-ORIGIN Sleep Center เป็นศูนย์ตรวจการนอนหลับขนาดใหญ่ระดับประเทศ มีศักยภาพในการให้บริการตรวจการนอนหลับ Full Sleep Test (PSG type I) จำนวน 8 เตียง รวมถึงในศูนย์ที่ร่วมมือกับศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก และโรงพยาบาลรามาธิบดี-วิมุต แห่งละ 8 เตียง