TTB ออกมาตรการช่วยลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ลดดอกเบี้ย 0.25% กดดันมาร์จิ้นต่ำ

07 พ.ค. 2567 | 08:55 น.

TTB ขานรับมาตรการช่วยลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ลดดอกเบี้ย 0.25% ดีเดย์ 16 พ.ค.-15พ.ย.67 นี้ คิดเป็นเพียงสัดส่วน 3.5% ของพอร์ตสินเชื่อ มองกระทบต่อบรรทัดสุดท้ายต่ำ แย้ม NIM-NPLs ไตรมาสที่เหลือปีนี้แนวโน้มดีต่อเนื่องทุกไตรมาส

นายนริศ อารักษ์สกุลวงศ์ ประธานกลุ่มงานกลยุทธ์องค์กรและดิจิทัล (Chief Strategy and Digital Group) ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมธนาคารไทย (TBA) ตระหนักและเห็นถึงความจำเป็นในการออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม สำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ในระหว่างที่เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) 0.25% สำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคล และ SME เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อลดภาระดอกเบี้ย และมีโอกาสฟื้นตัว ปรับตัว

ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐและสอดคล้องกับมาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน และการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ทางธนาคารจึงได้พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อปี สำหรับผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย MRR, MLR และ MOR โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือและดูแลลูกหนี้ที่กำลังเผชิญกับปัญหาทางการเงินให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้

โดยลูกค้ากลุ่มเปราะบางที่จะได้รับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ได้แก่

  1. ลูกค้าสินเชื่อบ้าน ที่มีรายได้รวมเฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 30,000 บาท และมีวงเงินอนุมัติไม่เกิน 2 ล้านบาท
  2. ลูกค้าสินเชื่อเอสเอ็มอี ที่มีรายได้ในปี พ.ศ. 2565 ไม่เกิน 30 ล้านบาท และมีวงเงินอนุมัติไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งจากการวางกรอบกำหนดการช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้กลุ่มเปราะบางดังกล่าวแล้ว ทำให้มีกลุ่มลูกหนี้ที่ต้องให้การช่วยเหลือประมาณ 3.5% ของมูลค่าสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 ที่  1,315 พันล้านบาท

มองว่ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางดังกล่าว จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อผลการดำเนินงานในบรรทัดสุดท้าย (Buttom line) ไม่มากนัก เนื่องจากคิดเป็นสัดส่วนต่ำกว่าระดับ 3.5% ของพอร์ตสินเชื่อโดยรวมของธนาคารเท่านั้น โดยกลุ่มสินเชื่อบ้านคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25% และสินเชื่อเอสเอ็มอี คิดเป็นสัดส่วนราว 8% ของพอร์ตสินเชื่อรวม

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางธนาคารก็ได้ตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวช้าและไม่ทั่วถึง ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งธนาคารเองไม่ได้นิ่งนอนใจและมีมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารมาโดยตลอด นอกเหนือจากมาตรการรวบหนี้และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบุคคลที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) อย่างไรก็ดี อัตราสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 บริษัทสามารถควบคุมและดูแลให้อยู่ที่ระดับ 2.5% ลดลงจากปีก่อน

สำหรับภาพรวมธุรกิจในช่วงไตรมาส 2/2567 นั้น มองว่ายังไม่ได้มีการการเติบโตที่หวือหวาหรือมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในแง่ของส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) มีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นในทุกๆ ไตรมาสหลังจากนี้ จากไตรมาส 1/2567 ที่ระดับ 3.28% ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ทางธนาคารวางไว้ เช่นเดียวกันกับ NPLs ที่คาดว่าในช่วงไตรมาสอื่นๆ หลังจากนี้มีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่ในช่วงที่ผ่านมาทางธนาคารมีการตัดจำหน่ายหนี้ด้อยคุณภาพออกไปบ้างแล้วบางส่วน รวมถึงความสามารถในการกลับมาชำระหนี้ของลูกหนี้ดีขึ้นหลังจากที่โควิด-19 คลายตัวและกลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น ทำให้มีรายได้ที่ดีมีความสามารถในการชำระหนี้ได้ดีตามไปด้วย