อัยการคดีพิเศษ สั่งตั้งคณะทำงาน ทำคดีปั่นหุ้น MORE เสียหาย 4.5 พันล้าน

08 พ.ค. 2567 | 05:32 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ค. 2567 | 05:43 น.

อธิบดีอัยการคดีพิเศษ มีคำสั่งตั้งคณะทำงานลุยคดีปั่นหุ้น MORE เสียหาย 4.5 พันล้าน หลังรับสำนวนดีเอสไอ 2 พ.ค.ก่อนหน้านี้อัยการคดีพิเศษยื่นศาลขอริบทรัพย์ กว่า 4.4 พันล้านไปเเล้ว ศาลนัดสืบพยาน 22 ต.ค.นี้

เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ มีคำสั่งสำนักงานคดีพิเศษ แต่งตั้งคณะทำงานคดีสำคัญในคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งสำนวนคดีพิเศษ เป็นคดีระหว่าง คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กับพวกรวม 12รายกล่าวหา กับ นายอภิมุข บำรุงวงศ์ กับพวกรวม 42 คนในข้อหา ร่วมกันกระทำการสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE
ของบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาขน)

และมีลักษณะต่อเนื่องกันโดยมุ่งหมายให้ราคาหลักทรัพย์หรือปริมาณการซื้อขาย หลักทรัพย์นั้นผิดไปจากสภาพปกติของตลาด, ร่วมกันฉ้อโกง, เป็นอั้งยี่ และช่องโจร ตาม พรบ.หลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 244/3/และมาตรา 244/5ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341ประกอบ มาตรา 83 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209และมาตรา 210

นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ

เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีสำคัญที่ประชาชนสนใจ สื่อมวลชนเสนอเป็นข่าวใหญ่ และเป็นคดีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ ที่มีมูลค่าทรัพย์สินไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท

เพื่อให้การพิจารณาดำเนินคดีดังกล่าวนี้เป็นไปด้วยความรอบคอบ ถูกต้องครบถ้วน จึงมีคำสั่งแต่งตั้ง

  • นายนิรันดร์  นันตาลิตอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 3 เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
  • นายนราธิป ธารากรสันติ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นรองหัวหน้าคณะทำงาน
  • นายณัฏฐ์ศาสน์ สิทธิชัยอัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ เป็นคณะทำงาน
  • นายเทพประทานพร ทองคลัง อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นคณะทำงาน
  • นายศุภเศรษฐ์ คงแข็ง อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นคณะทำงานเเละเจ้าของสำนวนร่วม
  • นายพงศ์ธรย์ ศิริรัตน์อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นเจ้าของสำนวน
  • นายสมุทร ลีพชรสกุลอัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นที่ปรึกษาหัวหน้าคณะทำงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับคดีนี้สำนักงานอัยการคดีพิเศษได้รับสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษที่ 66/2566 คดีระหว่าง คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดย นางวิไลลักษณ์  เจนอนันต์พร ผู้รับมอบอำนาจ กับพวกรวม 12 ราย  ผู้กล่าวหา กับ นายอภิมุข  บำรุงวงศ์ กับพวกรวม 42 คน ผู้ต้องหา ข้อหา ร่วมกันกระทำการสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE ของบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน)

และมีลักษณะต่อเนื่องกันโดยมุ่งหมายให้ราคาหลักทรัพย์หรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์นั้นผิดไปจากสภาพปกติของตลาด, ร่วมกันฉ้อโกง, เป็นอั้งยี่ และซ่องโจร ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 244/3 และมาตรา 244/5 ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบ มาตรา 83 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209  และมาตรา 210 เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา เเละมีการรับตัวผู้ต้องหาจนครบเมื่อวันที่ 7พ.ค.ที่ผ่านมา

พฤติการณ์ในการกระทำความผิด ผู้ต้องหามีพฤติกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE ในลักษณะของการแบ่งหน้าที่กันทำกับบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้ต้องหารายอื่น ๆ ในการซื้อขายผลักดันราคาอย่างต่อเนื่อง โดยส่งคำสั่งซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดในขณะนั้น ทำให้ราคาหลักทรัพย์ MORE ปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันสั้น เพื่อให้ผู้ต้องหาอื่นๆ สลับเข้ามาทยอยขายทำกำไรเป็นระยะ ๆ

มีการส่งคำสั่งซื้อขายเพื่อให้เกิดการจับคู่ซื้อขายกันเองภายในกลุ่ม อันมีลักษณะต่อเนื่องกัน โดยมุ่งหมายให้ราคาหลักทรัพย์หรือปริมาณการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ MORE ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด อันเป็นการทำให้นักลงทุนรายอื่นหรือบุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ โดยเฉพาะการที่ผู้ต้องหาขายหลักทรัพย์ MORE ที่มีอยู่ทั้งหมดในบัญชี ผ่านบริษัท อาร์เอชบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ปริมาณจำนวนหุ้นรวม 6,500,000 หุ้น สั่งขายที่ราคา 2.90 บาท รวมมูลค่า 18,850,000 บาท

และเกิดการจับคู่ซื้อขายกับคำสั่งซื้อขายของผู้ต้องหาที่ 1 ที่ได้ส่งคำสั่งซื้อไว้ล่วงหน้า โดยเกิดการจับคู่ซื้อขายกันเมื่อตลาดหลักทรัพย์เปิดทำการ ซึ่งเป็นการส่งคำสั่งขายในช่วงระยะเวลาก่อนที่ตลาดหลักทรัพย์เปิดทำการ เพื่อให้เกิดการจับคู่ซื้อขายทันทีเมื่อตลาดหลักทรัพย์เปิดทำการ ซึ่งผิดปกติวิสัยของนักลงทุนทั่วไป

จากพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้ต้องหาหรือบุคคลซึ่งทำการส่งคำสั่งขายหุ้นในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้ต้องหาล่วงรู้ถึงแผนการ ขั้นตอน วิธีการ และทราบข้อมูลเป็นอย่างดีว่าบัญชี  ซื้อขายของผู้ต้องหาที่ 1 ทำการสั่งซื้อหุ้นไว้ล่วงหน้าเป็นปริมาณมาก และจะเกิดการจับคู่ซื้อขายกับคำสั่งขายของผู้ต้องหาทันทีเมื่อตลาดหลักทรัพย์เปิดทำการ อันเป็นการส่งคำสั่งขายโดยรู้อยู่แล้วว่าตนเองหรือบุคคลอื่นซึ่งร่วมกระทำการได้สั่งซื้อหลักทรัพย์เดียวกันในจำนวน ราคา

และภายในเวลาใกล้เคียงกัน เพื่อให้ได้ไปซึ่งผลประโยชน์จากการกระทำดังกล่าว ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงเป็นวงกว้าง การกระทำของผู้ต้องหากับพวก จึงเป็นความผิดฐาน ร่วมกันกระทำการสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE ของ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขาย และมีลักษณะต่อเนื่อง โดยมุ่งหมายให้ราคาหลักทรัพย์หรือปริมาณการซื้อหรือขายหลักทรัพย์นั้นผิดไปจากสภาพปกติของตลาด

และการกระทำดังกล่าวยังเป็นการใช้กลอุบายหลอกลวงบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ  ทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากบริษัทหลักทรัพย์อันเป็นการฉ้อโกงบริษัทหลักทรัพย์ โดยผู้ต้องหากับพวกมีการรวมกลุ่มพร้อมปกปิดวิธีดำเนินการ โดยมุ่งหมายเพื่อก่อเหตุในการสร้างราคาและปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์และฉ้อโกง

อีกทั้งยังเป็นการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดดังกล่าวซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่  หนึ่งปีขึ้นไป อันมีลักษณะเป็นอั้งยี่และซ่องโจรมูลค่าความเสียหาย 4,507,107,214.11 บาท คดีนี้เป็นคดีสำคัญที่ประชาชนสนใจ สื่อมวลชนเสนอเป็นข่าวใหญ่ และเป็นคดีนโยบายของรัฐ กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ

นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ จึงดำเนินการพิจารณาตรวจสำนวน และมีคำสั่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณา เพื่อดำเนินการต่อไป สำหรับคดีที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้ส่งให้พนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ดำเนินการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดรายนายอภิมุข บำรุงวงศ์ กับพวกตกเป็นของแผ่นดิน รวมจำนวน 59 รายการ รวมจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 4,470,877,185.15 บาท  พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 2 ได้ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งไปแล้ว เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2566 ซึ่งศาลได้นัดสืบพยานในวันที่ 22 ต.ค. 2567 นี้