วันนี้ (8 พฤษภาคม 2567) ที่รัฐสภา นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล สส.จังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด สภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวผลการประชุม คณะอนุกรรมาธิการติดตามและศึกษาคดีฉ้อโกง บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มีนายดนุพร ปุณณกันต์ เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว
นายเลิศศักดิ์กล่าวว่า สำหรับข้อสังเกต อาทิ การดำเนินคดีกับผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท สตาร์ค ฯ ในการฉ้อโกง อัยการได้สั่งฟ้องดำเนินคดี 11 ราย แต่มี 1 รายคือ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ หลบหนีออกนอกราชอาณาจักร โดยอัยการได้อนุมัติคำร้องส่งผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว และมีคำฟังไม่ฟ้อง 1 ราย คือ นายชินวัฒน์ อัศวโภคี
นายเลิศศักดิ์กล่าวว่า การยึดอายัดเงินและทรัพย์สินเพื่อคืนให้กับผู้เสียหาย และการติดตามทรัพย์สินจากต่างประเทศ ซึ่งทราบหมดแล้วว่านำเงินไปไว้ที่ใด และการฟื้นฟูกิจการของบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นเนล (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ และเป็นบริษัทลูกหนี้ของบริษัท สตาร์ค ฯ
นายเลิศศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้รู้แล้วว่า เงินที่บริษัทสตาร์คทำธุรกรรมไปอยู่ที่ไหน อยู่บัญชีไหน อยู่ประเทศไหนบ้าง อยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบ
นายเลิศศักดิ์กล่าวว่า กมธ.ฟอกเงินและยาเสพติด ฯ จะไปดูงานที่ ปปง.อังกฤษ ซึ่งเป็นต้นแบบในเรื่องการตรวจเส้นทางการเงินและการติดตามเงินกลับคืนมา จะไปศึกษาว่า ปปง.อังกฤษมีวิวัฒนาการเรื่องป้องกันการฟอกเงินอย่างไร มีวิธีการทำงานอย่างไร และจะถือโอกาสพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการเรื่องสตาร์ค ฯ ด้วย
“แม้คณะอนุกรรมการฯ จะเสร็จสิ้นภารกิจไปแล้ว แต่กมธ.ป้องกันการฟอกเงินฯ ชุดนี้จะติดตามเรื่องนี้จนถึงที่สุด เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานและมีแนวทางการแก้ไขปัญหาไม่ให้เรื่องนี้เกิดขึ้นอีก เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย”นายเลิศศักดิ์กล่าว
ด้าน พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง แถลงเพิ่มเติมว่า หลังจากเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริง เช่น ปปง. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรมบังคับคดี กมธ.ฯ มีข้อสังเกตถึงการดำเนินคดีล่าช้า เช่น การยึดอายัดทรัพย์สิน ส่วนหนึ่งถูกยักย้ายถ่ายเทไปต่างประเทศ
“อีกเรื่องที่มีการหมุนเงิน เอาเงินมาซื้อหุ้นบริษัทตัวเอง เป็นจำนวนมาก แล้วก็ตอบว่า เงินนี้มาจากการกู้มามาจากประเทศสิงคโปร์ 650 ล้านบาท คนที่รับซื้อก็เป็นบริษัทของผู้ที่ถูกสั่งไม่ฟ้องในคดีและไม่ถูกยึดทรัพย์ด้วย”พ.ต.อ.สีหนาทกล่าว
พ.ต.อ.สีหนาทกล่าวว่า เรื่องเส้นทางการเงิน ปปง.ตรวจไม่พบรายงานธุรกรรม เพราะคนที่ทำธุรกรรมรู้จักกับพนักงานธนาคาร ซึ่งกฎกระทรวง ปปง.เกี่ยวกับรายงานธุรกรรม ฉบับที่ 4 ระบุว่า การโอนเงินตั้งแต่ 7 แสนบาทขึ้นไปต้องรายงาน แต่ทำไม ปปง.ไม่ดำเนินคดีกับสถาบันการเงินที่ไม่รายงานธุรกรรม
พ.ต.อ.สีหนาทกล่าวว่า สำหรับทรัพย์สินที่ดำเนินโดยกองทุนฟื้นฟูตามที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้บริษัท เฟ้ลป์ ดอดจ์ ฯ ใช้เงินเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน แต่เจ้าหนี้ตัวจริงคือประชาชน ปปง.ควรใช้อำนาจตามกฎหมายเสนอกรรมการธุรกรรมให้ยึดเพื่อนำเงินมาชดใช้ประชาชน