สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) ในฐานะองค์กรตัวแทนผู้ลงทุนรายบุคคลที่มีภารกิจในการช่วยเหลือผู้เสียหายที่ลงทุนในหุ้นสามัญบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) เปิดเผยว่า วันนี้ (6 มิถุนายน 2567) กลุ่มตัวแทนโจทก์ผู้เสียหายหุ้นสามัญ STARK ได้ยื่นคำฟ้องและคำร้องขอพิจารณาคดีแบบกลุ่มต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.1061/2567 เพื่อยื่นฟ้องบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท อดิสร สงขลา จำกัด, บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, นายชนินทร์ เย็นสุดใจ, นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ, นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ, นายชินวัฒน์ อัศวโภคี, นายประกรณ์ เมฆจำเริญ และนายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม รวม 10 ราย
ทั้งนี้การฟ้องคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action ครั้งนี้จะครอบคลุมกลุ่มผู้เสียหายหุ้นสามัญ ตามนิยามสมาชิกกลุ่ม คือ บุคคลที่เข้าซื้อหรือขายหุ้น STARK ในช่วงระหว่างวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ถึง 16 มิถุนายน 2566 ที่ได้รับความเสียหาย (ซึ่งเป็นช่วงที่ STARK เผยแพร่ข้อมูลงบการเงินปี 2564 และ 2565 ที่มีข้อมูลเท็จ) โดยครอบคลุมทั้งบุคคลที่เข้าซื้อหุ้น STARK ในช่วงเวลาดังกล่าว และยังถือหุ้นอยู่ในปัจจุบัน บุคคลที่เข้าซื้อหุ้น STARK ในช่วงเวลาดังกล่าวและขายหุ้นบางส่วนออกไปแล้ว และบุคคลที่เข้าซื้อหุ้น STARK ในช่วงเวลาดังกล่าวและขายหุ้นทั้งหมดออกไปแล้ว โดยศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ได้กำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอพิจารณาคดีแบบกลุ่มในวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 น.
โดยหากศาลอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม จะครอบคลุมสิทธิของผู้เสียหายกลุ่มผู้ถือหุ้นสามัญตามนิยามที่กำหนด โดยที่ผู้เสียหายไม่ต้องรับภาระเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีใดๆ
ทั้งนี้กรณีการทุจริต STARK ได้สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างกับนักลงทุน ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและศรัทธาที่มีต่อตลาดทุนไทย มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามารับเรื่อง ดำเนินการ ตามบทบาท และหน้าที่แห่งความรับผิดชอบไปแล้ว ในส่วนของ TIA ในฐานะองค์กรตัวแทนผู้ลงทุนรายบุคคล มีภารกิจในการช่วยเหลือผู้เสียหาย ที่ลงทุนในหุ้นสามัญ STARK ได้มีการดำเนินดังนี้ คือ
“TIA ได้ดำเนินการด้วยความพยายามอย่างยิ่งยวด ในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายหุ้นสามัญ STARK มีการติดต่อและประสานงาน ด้วยความระมัดระวัง เพื่อที่จะให้มีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ให้เป็นผลสำเร็จ และ ร่วมผลักดันให้ มีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ให้เป็นผลสำเร็จ เพราะ เกือบ 10 ปี ของกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ แม้จะมีการชี้มูลความผิดของการฉ้อฉล ทุจริต ที่เกิดความเสียหายกับผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่พบว่ายังไม่เคยมีการฟ้องและดำเนินคดีแบบกลุ่มเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดแก่กลุ่มผู้ถือหุ้นสามัญแต่อย่างใด จึงมีคำถามถึงประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมาย
สอดคล้องกับ ผลงานวิจัยของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ระบุว่า สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง ของการบังคับใช้ข้อกฎหมาย คือ ความอ่อนแอของการลุกขึ้นรวมตัวกันของผู้เสียหาย เหตุเพราะ ไม่อยากค้าความ ปล่อยให้เป็นเรื่องของเวรกรรม ผลลัพธ์ คือ ความย่ามใจ ของผู้กระทำผิด เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ทุจริตแล้วได้เงิน โกงแล้วรวย จึงสั่นคลอน ความศรัทธา ความเชื่อมั่น ของตลาดทุนไทย และ เพื่อปิดจุดอ่อนของอุปสรรคการบังคับใช้กฎหมาย TIA จึงรับหน้าที่ ในการทำช่วยเหลือให้ข้อมูลสิทธิของผู้ถือหุ้นสามัญ ทำการเชื่อมประสานการรวมตัวกันของผู้เสียหายหุ้นสามัญ STARK ตามลำดับงานข้างต้น“
อนึ่ง ผู้เสียหายหุ้นสามัญ STARK สามารถติดตามข่าวสาร ได้ทางช่องทางออนไลน์ ของสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ได้แก่ www.thaiinvestors.com และ [email protected]