"ภากร" มั่นใจตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลังฟื้น

06 มิ.ย. 2567 | 07:33 น.
อัปเดตล่าสุด :06 มิ.ย. 2567 | 07:46 น.

"ภากร" มองตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลังโดดเด่น รับอานิสงส์รัฐเบิกจ่ายงบ และไฮซีซันท่องเที่ยว ลุ้นเฟดลดดอกเบี้ยหนุนโฟลวไหลกลับเข้าตลาดเกิดใหม่ จับตาเคาะผู้จัดการตลาดฯ คนใหม่สิ้นเดือนมิ.ย. นี้

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เปิดเผยว่า มองภาพรวมบรรยากาศตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2567 มีทิศทางการขยายตัวที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกปี และดีกว่าเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน ปัจจัยสนับสนุนหลักๆ เป็นผลมาจาก

  1. การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ที่อัดอั้นมาตั้งแต่ปี 2566 และงบประมาณปี 2567 ที่จะทยอยออกมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ตามแผนการลงทุนโครงการต่างๆ ของภาครัฐ
  2. การท่องเที่ยวที่เข้าสู่ช่วงไฮซีซันทำให้มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยนับตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ายอดเฉลี่ยอยู่ที่ราว 4 ล้านคน/เดือน คาดว่าสิ้นปีนี้จะทำได้ตามเป้าหมายที่ 35-36 ล้านคน/ปี ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโรคไวรัสโควิด-19 ระบาด ปีนี้ต้องยอใรับเลยว่าภาคการท่องเที่ยวและบริการเป็นพระเอกของปีนี้เลย
  3. คาดว่าในช่วงปลายปี 2567 มีโอกาสที่ทางธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market หรือ EM) ที่จะเริ่มเห็นการกลับมาลงทุนของต่างชาติอีกครั้ง อย่างไรก็ดี มองว่าช่วงที่เหลือของปีนี้ FED คงไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกแล้ว เพราะในปัจจุบันก็อยู่ระดับที่สูง เพียงแต่ระหว่างนี้อาจคงอยู่ในระดับนี้เพื่อกดให้อัตราเงินเฟ้อลดต่ำลงมาอยู่ที่ระดับไม่เกิน 2% ให้ได้ จากตอนนี้ที่ราว 2.5%

ส่วนประเด็นการเมืองที่ขณะนี้ยังคงมีหลายคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณานั้น มองว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการพิจารณาการเข้าลงทุนของต่างชาติ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีหุ้นไทยมาจากเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งในตอนนี้เองตัวเลขเศรษฐกิจไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ แม้ว่าภาพรวมตลาดหุ้นไทยปรับตัวลง แต่เม็ดเงินต่างชาติเริ่มไหลออกน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงที่มีข่าวลบที่มีก่อนหน้า เช่น ตัวเลขส่งออกติดลบ 10% แต่ภาพรวมเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไม่ได้ไหลออกไปมากอย่างที่คาดการณ์

โดยประเด็นสำคัญที่นักลงทุนต่างชาติติดตามคือ เศรษฐกิจไทยโตอย่างไร และหนุนความสามารถทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) อย่างไร ในส่วนกรณีความเห็นต่างของนโยบายอัตราดอกเบี้ยระหว่างรัฐบาลและคลัง มองว่าเป็นปัจจัยรองเมื่อเทียบกับภาวะเศรษฐกิจเติบโตอย่างไร ทั้งความสามารถการทำกำไรของบจ.ดีขึ้น ทั้งกลุ่มเฮลท์แคร์ เวลบีอิ้ง ท่องเที่ยว ส่งออก อาหาร ซึ่งมองว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญ มากกว่าปัจจัยการเมืองหรืออัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน

สำหรับการโรดโชว์ที่ฮ่องกงในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีกองทุนรายใหญ่เข้าร่วมงาน 3,000 กองทุน อาทิ กองทุน Balrog กองทุน JPMorgan ซึ่งทีมรัฐบาลและตลาดทุนได้นำเสนอให้กองทุนต่างชาติทราบถึงจุดขายของประเทศไทย ได้แก่
1. ประเทศไทยเป็นมิตรกับการค้าขายกับประเทศทั่วโลก ซึ่งยอดสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สูงมากกว่าปีก่อนๆ รวมถึงการเป็นแหล่งพลังงานสะอาด ที่ให้ความสำคัญในด้านของความยั่งยืน (Sustainability)
2. มีโอกาสได้อธิบายถึงมาตรการต่างๆ ของตลาดหลักทรัพย์ที่ประกาศออกมา เช่น การควบคุมราคา, Naked Short Selling ซึ่งเป็นมาตรการจำกัดเฉพาะไม่ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนต่างชาติ โดยเป็นสิ่งที่กองทุนต่างชาติเห็นด้วย
3. ไทยมีสัดส่วนแหล่งพลังงานสะอาดค่อนข้างสูงและมีสเถียรภาพเพื่อรองรับธุรกิจ โดยการโรดโชว์ต่างประเทศในอนาคต ตลท.มีความสนใจในตะวันออกกลาง เนื่องจากยังมีแหล่งเงินกองทุนที่น่าสนใจ

"การออกไปโรดโชว์ของตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เราได้เห็นมุมมองต่างชาติที่มองถึงจุดแข็งของไทย ทั้งการส่งออก อาหาร เฮลท์แคร์ ท่องเที่ยว ทุกคนยอมรับ ซึ่งธุรกิจพวกนี้จะใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาให้เติบโตอย่างไรบ้าง ตรงนี้เขาให้ความสำคัญ และสิ่งที่เขาอยากได้คือข้อมูลทันต่อเหตุการณ์ว่าธุรกิจเรามีความหลากหลายอย่างไรบ้าง รวมถึงการให้ความสำคัญกับธุรกิจความยั่งยืน และการย้ายฐานผลิตมาไทยจะได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง"

ส่วนความคืบหน้าในการเลือกผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์คนใหม่นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างสรรหาและคัดเลือก คาดว่าจะทราบผลได้ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2567 นี้

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงดอกเบี้ยสูงไปอีกระยะ (Higher for Longer) หลังจาก IMF ประเมินสถานการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในทะเลแดง ทำให้สายการเดินเรือใหญ่ปรับเส้นทางขนส่งซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนค่าระวางเรือ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดจะยังทรงตัวในระดับสูง

อาจกระทบอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงช้ากว่าคาด แม้ว่าตลาดแรงงานส่งสัญญาณชะลอตัว ในทางกลับกันเศรษฐกิจจีนมีสัญญาณฟื้นตัว แต่ยังคงอ่อนแอ รัฐบาลจีนประกาศมาตรการรักษาเสถียรภาพและกระตุ้นตลาดหุ้นทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์จีนและฮ่องกงเริ่มฟื้นตัว

\"ภากร\" มั่นใจตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลังฟื้น

สำหรับเศรษฐกิจไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 1/2567 ขยายตัว 1.5% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 0.8% หลังได้รับแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อไทยปรับเพิ่มเป็นบวกเดือนแรกหลังหดตัวติดต่อกันหกเดือน

และการกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ ของการส่งออก อีกทั้งบริษัทจดทะเบียนรายงานผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2567 โดยภาพรวมมีรายได้และกำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากกว่างวดเดียวกันของปีก่อน เช่น ธุรกิจโรงแรม การบิน พื้นที่เช่า ค้าปลีก และโทรคมนาคม อีกทั้งบริษัทจดทะเบียนเกินครึ่งรายงานกำไรสุทธิสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาด ส่งผลให้ปรับ Forward EPS ของ SET เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนหน้า ขณะที่ valuation ของหุ้นไทยหลาย sector ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต

สำหรับภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนพษภาคม 2567 SET Index ปิดที่ 1,345.66 จุด ปรับลดลง 1.6% จากเดือนก่อน และปรับลดลง 5.0% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อน โดยผู้ลงทุนยังรอความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการสนับสนุนตลาดทุนหลังมีการปรับคณะรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และ กลุ่มบริการ

มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai ในเดือนพฤษภาคม 2567 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2567 มาอยู่ที่ 45,612 ล้านบาท แม้ว่าลดลง 17.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนต่างประเทศ ขายสุทธิ 16,566 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 25 ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2567 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. สุพรีม ดิส       ทิบิวชั่น (SPREME) และใน mai 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. ไลท์อัพ โทเทิล โซลูชั่น (LTS)

ด้าน Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 14.4 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.2 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 16.1 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 15.5 เท่า ขณะที่อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 3.48% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.18% 

ขณะที่ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในเดือนพฤษภาคม 2567 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 393,053 สัญญา ลดลง 14.5% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ SET50 Index Futures และ Single Stock Futures และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 429,791 สัญญา ลดลง 21.6% จากช่วงเดียวกัน ของปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures และ SET50 Index Futures

อย่างไรก็ตาม มองว่าแนวโน้มการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงดอกเบี้ยสูงไปอีกระยะ (Higher for Longer) หลังจาก IMF ประเมินสถานการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในทะเลแดง ทำให้สายการเดินเรือใหญ่ปรับเส้นทางขนส่งซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนค่าระวางเรือ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดจะยังทรงตัวในระดับสูง อาจกระทบอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลงช้ากว่าคาด แม้ว่าตลาดแรงงานส่งสัญญาณชะลอตัว ในทางกลับกันเศรษฐกิจจีนมีสัญญาณฟื้นตัว แต่ยังคงอ่อนแอ รัฐบาลจีนประกาศมาตรการรักษาเสถียรภาพและกระตุ้นตลาดหุ้นทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์จีนและฮ่องกงเริ่มฟื้นตัว