"ทริส" จัดเรตติ้งหุ้นกู้วงเงิน 3 พันล้าน "JMART" ที่ “BBB” แนวโน้ม “Negative”

11 มิ.ย. 2567 | 06:38 น.

"ทริสเรทติ้ง" จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันวงเงินไม่เกิน 3 พันล้านบาท “บ. เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” ที่ “BBB” แนวโน้ม “Negative”

ทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 3 พันล้านบาท ไถ่ถอนภายใน 3 ปี ของบริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JMART  ที่ระดับ “BBB

หุ้นกู้ชุดดังกล่าวจะใช้หลักประกันเป็นหุ้นสามัญของ บริษัทเจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) (JMT) (อันดับเครดิต “BBB+/Negative”) โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปชำระคืนหนี้และใช้ในการลงทุนขยายธุรกิจ ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของบริษัท เจมาร์ทที่ระดับ “BBB+” และหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันที่ระดับ “BBB” โดยแนวโน้มอันดับเครดิตยังคงอยู่ที่ “Negative” หรือ “ลบ”

 

ทั้งนี้ อันดับเครดิตหุ้นกู้อยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กร สะท้อนถึงความด้อยกว่าในเชิงโครงสร้างของภาระหนี้ของเงินกู้ยืมไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทเมื่อเทียบกับสิทธิเรียกร้องในการชำระคืนหนี้ของบริษัทย่อยต่าง ๆ ของบริษัท อันดับเครดิตองค์กรยังคงสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจในระดับปานกลางของบริษัทซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้ที่แข็งแกร่งจากบริษัทลูกรายใหญ่ 3 รายได้แก่

  • JMT ซึ่งเป็นบริษัทลูกหลักที่ดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ
  • บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด(JMB) ซึ่งดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ และ
  • บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) (J-Asset) ซึ่งดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ผลประกอบการของบริษัทในไตรมาสแรกของปี 2567 ต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดหมายไว้โดยมีสาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บเงินสดจากลูกหนี้ด้อยคุณภาพที่อ่อนตัวลงของ JMT ซึ่งเกิดจากความสามารถในการชำระหนี้ที่อ่อนแอลงของลูกหนี้ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังคงฟื้นตัวช้า ซึ่งทำให้การตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นทั้งใน JMT และ บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK
AMC)

 

 

ในไตรมาสแรกของปี 2567 การจัดเก็บเงินสดอยู่ที่ 1.45 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว แต่ลดลง 4.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว กำไรสุทธิลดลง 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเป็น 423 ล้านบาท JMT ซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นที่มูลค่าต้นทุน 192 ล้านบาท เทียบกับ 1.2 พันล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2566

ในขณะเดียวกัน ในไตรมาสแรกของปี 2567 JMB ยังรักษาฐานธุรกิจและรายได้รวมไว้ได้แม้ว่าจะมีการชะลอตัวของยอดขายมือถือจากช่องทาง SINGER ซึ่งการเติบโตมาจากโครงการผ่อนชำระมือถือที่มีระบบระงับการใช้เครื่อง Samsung Finance Plus (SF+) รายได้ของ JMB เพิ่มขึ้นเป็น 2.26 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่ากำไรสุทธิจะลดลงเหลือ 22 ล้านบาทเมื่อเทียบกับ 55 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2566

ในอนาคต JMB มีแผนจะขยายโครงการผ่อนชำระมือถือที่มีระบบระงับการใช้เครื่องไปยังแบรนด์จากประเทศจีนด้วยการร่วมมือกับ บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (SGC) (อันดับเครดิต “BB+/Stable”) โดยโครงการนี้น่าจะช่วยเพิ่มรายได้ของ JMB ได้ในครึ่งหลังของปี 2567

ในไตรมาสแรกของปี 2567 กำไรสุทธิของ J-Asset ลดลงเหลือ 6 ล้านบาทจาก 23 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2566 เนื่องจากจากค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายทางการตลาด ค่าเช่า และค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย โดยในปี 2567 J-Asset มีแผนจะเปิดตัวศูนย์การค้าชุมชนใหม่อีก 3 แห่ง ซึ่งประกอบไปด้วย “JAS Green Village Prawet” “JAS Green Village Ram Khamheang” และ “JAS Green Village Khon Kean”

JMART มีสัดส่วนอัตราการก่อหนี้ของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 3.64 เท่า ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2567 จาก 3.68 เท่า ณ สิ้นปี 2566 โดยอัตราส่วนดังกล่าวน่าจะมีแนวโน้มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากผลดำเนินการที่ทริสเรทติ้งคาดว่าจะค่อนข้างใกล้เคียงหรืออ่อนแอกว่าไตรมาสแรกของปี 2567

ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2567 บริษัทมีหนี้สินที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) อยู่ที่ 64.4% ซึ่งสูงกว่าระดับ 50% ตามที่กำหนดไว้ในการจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ของทริสเรทติ้ง ทำให้อันดับเครดิตหุ้นกู้อยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรหนึ่งขั้น

แนวโน้มอันดับครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าภาระหนี้สินของบริษัทซึ่งวัดจากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วน่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงและมีทิศทางที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิต อาจถูกปรับลดลงหากบริษัทมีผลดำเนินงานที่อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญและ/หรือบริษัทมีการลงทุนในเชิงรุกโดยการก่อหนี้ ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากระดับปัจจุบัน

แนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับกลับมาเป็น “Stable” หรือ “คงที่” ในกรณีที่บริษัทมีผลการดำเนินงานทางการเงินที่ดีขึ้นในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาการก่อหนี้ให้อยู่ในระดับเดียวกับปัจจุบันเอาไว้ได้