ตลาดหุ้นไทยขาดเสน่ห์ GDP หดไม่จูงใจ นักลงทุนหอบเงินหนีซบสหรัฐฯ

22 มิ.ย. 2567 | 23:00 น.

ตลาดหุ้นไทยภาพสะท้อนเศรษฐกิจ นักลงทุนมองหมดความน่าสนใจ หอบเงินหนีลงทุนต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า 10% ชูตลาดสหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่น ติดโผ ชูไทยจำเป็นต้องหาหุ้นเทคโนโลยี growth stock เข้ามาจูงใจ

นายเอกภพ เมฆกัลจาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ แอลจีที (ประเทศไทย) (LGT Securities (Thailand) Limited) เปิดเผยว่า หากถามว่าตลาดหุ้นไทยในขณะนี้กำลังหมดเสน่ห์ในการลงทุนทั้งในมุมมองของนักลงทุนไทยเอง รวมถึงในสายตาของนักลงทุนต่างชาติแล้วหรือไม่นั้น เชื่อว่ามูลค่าในการซื้อขายสุทธิในแต่ละวันน่าจะเป็นตัวสะท้อนภาพได้อย่างชัดเจนแล้ว 

เทียบกับตลาดหุ้นต่างประเทศอื่นๆ มองว่าปัจจุบันให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศไทยมากกว่า 10% โดยเฉพาะในประเทศหลักอย่างสหรัฐฯ อเมริกาที่เป็นตลาดใหญ่มีหลายอุตสาหกรรมใหม่ที่มีความน่าสนใจ อาทิ หุ้นเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีใหม่ (Startups) เทคโนโลยีโรบอติกส์ เทคโนโลยีความปลอดภัยและซัพพอร์ต ด้านโครงข่ายและการเชื่อมต่อ เทคโนโลยีชั้นยอด (Tech Giants) และ เทคโนโลยีระดับกลางและระดับเล็ก ที่นับว่าเป็น growth stock ในปัจจุบัน

แตกต่างจากหุ้นเน้นคุณค่าทั่วไป (value stock) ตรงที่การเติบโตของรายได้สูงมาก และยิ่งขึ้นมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมและมีส่วนแบ่งการตลาดที่สูง ยิ่งทำให้ผลตอบแทนที่ได้ก็ดีขึ้นตามไปด้วย ซึ่งตลาดหุ้นไทยยังการเปิดตลาดลงทุนในกลุ่มนี้เท่าไหร่นัก ซึ่งก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนไทยหันไปให้ความสนใจและปรับพอร์ตไปลงทุนยังหุ้นในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

โดยหากย้อนกลับไปดูค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเม็ดเงินของนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนยังกองทุนหรือหุ้นในต่างประเทศมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี 

ทั้งนี้ กลุ่มประเทศที่นักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความสนใจในปัจจุบัน ได้แก่ ตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดหลักที่นักลงทุนชอบเพราะให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูง รองลงมือ คือ ตลาดประเทศอินเดีย โดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ จะเห็นได้ว่าประเทศอินเดียในตอนนี้กับในอดีตต่างกันมากและมีการพัฒนาไปค่อนข้างไกล ทำให้แม้กระทั่งนักลงทุนที่สนใจลงทุนในประเทศจีนยังมีการปรับแผนลงทุนมายังตลาดอินเดียมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมองว่าตลาดประเทศญี่ปุ่นยังเป็นอีกที่ที่มีความน่าสนใจและมีมุมมองที่เป็นบวก เพราะเชื่อว่าผลประกอบการของบริษํทจดทะเบียนในปี 2567 จะออกมาดี เนื่องจากญี่ปุ่นเริ่มคลี่คลายสภาวะเงินฟืดได้แล้วหลังต้องจนอยู่มาเกือบ 20-30 ปี ซึ่งเมื่อเป็นภาวะเงินเฟ้อ ก็เชื่อว่าจะทำให้การขายของนั้นได้กำไรที่ดีขึ้น ตามไปด้วยการปรับขึ้นค่าแรงตามมาก แต่อย่างไรก็ดี ปัญหาเพียงอย่างเดียวในตอนนี้ก็คือค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลงมาก 140 เยน/ดอลลาร์ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มเป็น 165เยน/ดอลลาร์ ในปลายปีนี้อีกด้วย ทำให้แม้ว่าได้กำไรหุ้นมาก็โดนหักล้างด้วยค่าเงิน

 

เอกภพ เมฆกัลจาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ แอลจีที (ประเทศไทย)

ต้องยอมรับว่าตลาดหุ้นไทยก็ถือเป็นภาพสะท้อนของเศรษฐกิจในประเทศด้วยเช่นเดียวกัน มองว่าหากอยากดึงความสนใจประเทศไทยต้องให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนและดึงให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ  หากมองย้อนกลับไปในอดีตประเทศไทยเคยมีการเติบโตที่รุ่งเรืองมากในยุคที่เริ่มต้นบุกเบิกโรงปิโตรเคมีและโรงกลั่น และกลับมามีความรุ่งโรจน์ในยุคที่บูมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่เรียกเม็ดเงินให้กับประเทศไทยได้อย่างมหาศาลในอดีต

กลับมาที่ปัจจุบัน ประเทศไทยให้ความสำคัญและมีการพึ่งพิงกับอุตสาหกรรมของการท่องเที่ยวเป็นหลัก เมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาด การเดินทางหยุดชะงัก กลายเป็นว่าเกิดสูญยากาศทางเศรษฐกิจ กว่าที่จะกลับมาฟื้นตัวได้ก็ใช้เวลา ดังนั้นจึงมองว่าประเทศไทยต้องหาอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เข้ามาสร้าง New S-Curve ให้กับเศรษฐกิจไทยได้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นอีกแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ GDP กลับมาเติบโตใกล้เคียงกับในอดีตที่เคยทำได้ในระดับ 5-6% จากปี 2567 ที่คาดว่าเฉลี่ย GDP ไทยจะอยู่ที่ประมาณ 2%

อีกปัจจัยสำคัญคือการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล และที่สำคัญที่สุดภาครัฐต้องมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่โครงการใหม่ เพื่อเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น เรียกความเชื่อมั่น สร้างความน่าสนใจให้กับภาคเอกชนให้มีการลงทุนใหม่ๆ ตามมา หนุนให้ภายในประเทศมีกำลังซื้อที่ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน ดึงความน่าสนใจจากนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศให้หันกลับมามองตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง