โบรกมองอุตสาหกรรมยานยนต์ชะลอตัว กระทบสินเชื่อรถแบงก์หด ชู KBANK-TTB เด่น

22 มิ.ย. 2567 | 07:12 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มิ.ย. 2567 | 07:12 น.

จับตาศึกรถยนต์ "ไฟฟ้า-สันดาป" ตัดราคา กระทบราคารถยนต์มือสองและขาดทุนรถยึด จากภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ชะลอตัว หนี้ครัวเรือนสูง ทำให้ธนาคารเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ พร้อมชู KBANK-TTB เด่น

บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า จากประเด็นข่าวที่รถยนต์ "ไฟฟ้า-สันดาป" หั่นราคา บริหารสต็อกรักษากำลังการผลิต รถยนต์ "ไฟฟ้า-สันดาป" สู้ศึกราคารอบใหม่ สมาคมอีวีชี้ หั่นราคา บริหารสต็อกรักษากำลังการผลิต เตรียมผลิตรถรุ่นใหม่ปี 68-69 ตามเงื่อนไขรับเงิน อุดหนุนรัฐ "บีวายดี" ได้เปรียบต้นทุนแบตต่ำลดราคาได้เยอะ ส.อ.ท.ยืนยันไม่ใช่สงครามราคา ระบุค่ายรถลดราคาเพื่อรักษากำลังการผลิต รักษาต้นทุนต่อหน่วย

โดยหลังจากปลายปี 66 มีการแข่งขันลดราคารถอีวีในระดับคันละ 100,000 บาท ซึ่งทำให้รถเครื่องยนต์สันดาปภายในบางรุ่นลดราคาตาม ล่าสุดรถ BYD ลดราคารุ่น BYD Dolphin 2024 สูงสุด 160,099 บาท ถึง 30 มิ.ย.67 ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันค่ายรถญี่ปุ่นบางแห่งจัดโปรโมชันในช่วงเดือน มิ.ย.67 เช่น แคมเปญ MAZDA M DAY ให้ส่วนลดสูงสุด 130,000 บาท ขณะที่ดีลเลอร์รถสันดาปบางแห่งของค่ายรถญี่ปุ่นประกาศลดราคารถบางรุ่น เช่น Nissan Kicks ให้ส่วนลด 100,000-120,000 บาท , MazdaCX-30 ให้ส่วนลด 140,000 บาท

ทางฝ่ายมองเป็นลบ คาดกระทบราคารถยนต์มือสองและขาดทุนรถยึด เนื่องจากภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ชะลอตัว ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่สูง ทำให้ธนาคารมีการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ และส่งผลให้ค่ายรถทั้งรถอีวีและรถสันดาปเกิดการแข่งขันทางด้านราคามากขึ้น โดยเฉพาะรถอีวีที่มีการลดราคามาตั้งแต่ปลายปี 66 และยังคงมีการลดราคาอยู่จนถึงปัจจุบัน (ยอดขายรถอีวีคิดเป็น 7-8% จากยอดขายรถทั้งหมด) ซึ่งเคาดว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงราคารถยนต์ 

โดยเฉพาะราคารถยนต์มือสองที่มีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลดลงได้อีกจากปัจจุบัน ซึ่งจะกระทบต่อผลขาดทุนรถยึดที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นได้อีก ทั้งนี้ทางฝ่ายเรียงผลกระทบตามสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อจากมาก-น้อยคือ เช่น KKP (48% ของสินเชื่อรวม), TISCO (46% ของสินเชื่อรวม), TTB (30% ของสินเชื่อรวม), BAY (21% ของสินเชื่อรวม), SCB (7% ของสินเชื่อรวม) ยังคงน้ำหนักหุ้นกลุ่มธนาคารเป็น “เท่ากับตลาด” เลือก KBANK, TTB เป็น Top pick

ทั้งนี้  ทางฝ่ายยังคงน้ำหนักหุ้นกลุ่มธนาคารเป็น “เท่ากับตลาด” เพราะการเติบโตของกำไรปี 67 จะโตได้ชะลอตัวเหลือกว่า 5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อ่น จากปี 66 ที่ประมาณ 18% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน แต่อย่างไรก็ดี ด้าน valuation ยังถูก เทรดที่ระดับเพียง 0.60 เท่า PBV (-1.25SD below 10-yr average PBV) โดยทางฝ่ายเลือก KBANK และ TTB เป็นหุ้น Top pick

โดย KBANK ราคาเป้าหมายที่ 155.00 บาท อิง PBV ปี 67 ที่ 0.65 เท่า (-1.25SD below 10-yr average PBV) เพราะคุณภาพของสินทรัพย์ที่ดีขึ้น ประกอบกับทางฝ่ายคาดกำไรไตรมาส 2/67 จะเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน จากสำรองฯที่ลดลง รวมถึงมี valuation ที่น่าสนใจ โดยซื้อขายเพียง 0.54 เท่า PBV (-1.50SD below 10-yr average PBV) ถูกกว่ากลุ่มที่ 0.60 เท่า PBV และถูกกว่า SCB ที่ 0.73 เท่า PBV

ส่วน TTB ราคาเป้าหมายที่ 2.10 บาท อิง PBV ปี 67 ที่ 0.85 เท่า (-0.75SD below 10-yr average PBV) เพราะแนวโน้มกำไรสุทธิปี 67 อยู่ที่ 2.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นได้ดีสุดในกลุ่มที่กว่า 13% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน ขณะที่คาดกำไรไตรมาส 2/67 จะเพิ่มขึ้นได้ทั้งเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อนและจากไตรมาสก่อน จาก Tax benefit และการรุกสินเชื่อที่ผลตอบแทนสูงจากฐานกลุ่มลูกค้าเดิมของ TTB ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าการหากลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ด้านราคาหุ้นปัจจุบันเทรดที่ PBV ที่ 0.68 เท่า ที่ระดับ -1.00SD below 10-yr average PBV และยังมี Dividend yield ที่ระดับราว 6%