วิจัยกรุงศรีฯ X-Ray เศรษฐกิจไทยยังเสี่ยง เติบโตต่ำ หนี้ครัวเรือนสูง

03 ก.ค. 2567 | 05:03 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ค. 2567 | 06:16 น.

วิจัยเศรษฐกิจ กรุงศรี ฯ X-Ray เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงจากศักยภาพการเติบโตที่อยู่ในระดับต่ำ การคลังเริ่มส่งสัญญาณเปราะบาง หนี้สาธารณะต่อ GDP ทะยานต่อเนื่อง ขณะที่ความสามารถการแข่งขันลดลงในหลายอุตสาหกรรม ภาระหนี้ครัวเรือนพุ่ง

ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ  ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผ่านมา 27 ปี ภาพรวมเศรษฐกิจไทยสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้นมากจากวิกฤติปี 2540 โดยเฉพาะเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งด้านต่างประเทศ ตลอดจนภาคธนาคารที่เข้มแข็งขึ้น ปัจจุบันทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงและเพียงพอในการชำระคืนหนี้ต่างประเทศ โดย ณ สิ้นปี 2566 ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 252.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 2.41 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น เปรียบเทียบกับในช่วงวิกฤตปี 2540 ที่ไทยมีทุนสำรองเพียง 8.96 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเพียง 0.70 เท่าต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 
 

ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดปรับดีขึ้น จากขาดดุลเฉลี่ยต่อปีกว่า -6% ของ GDP ในช่วงปี 2538-2540 สู่การเกินดุล 1.3% ของ GDP ในปี 2566  แม้ว่าอาจจะเกินดุลน้อยลงบ้างหากเทียบกับช่วงปี 2553-2562 (ช่วงหนึ่งทศวรรษก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19)  ที่ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเฉลี่ยถึง 4.5% ของ GDP ในส่วนของการพึ่งพิงเงินกู้ยืมจากต่างประเทศมีสัดส่วนลดลง

ล่าสุดหนี้ต่างประเทศต่อ GDP อยู่ที่ 38.4% (ณ สิ้นปี 2566) ลดลงอย่างชัดเจนจาก 64.8% ณ สิ้นปี 2540  โดยภาคธนาคารเข้มแข็งขึ้น โดย NPLs ต่อสินเชื่อรวมล่าสุดอยู่ที่ 2.76% (ณ สิ้นไตรมาส 1/2567) ลดลงจากที่เคยสูงถึงกว่า 45% ณ ช่วงสิ้นปี 2541 และเสถียรภาพด้านราคาอยู่ในระดับดี อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันอยู่ 1.2% (เฉลี่ยในปี 2566) จากที่เคยสูงถึง 5.6% ในปี 2540 

สำหรับ ปัจจัยที่ควรระมัดระวัง  แม้ไทยจะพ้นจากวิกฤตการเงินมานาน แต่อาจเผชิญความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในระดับต่ำ ตลอดจนความเปราะบางทางการคลังที่เพิ่มมากขึ้น  ท่ามกลางปัญหาเชิงโครงสร้างหลายประการ โดยแม้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงหลังวิกฤตปี 2540 จะปรับดีขึ้นมากจากในช่วงปี 2540-2541 ที่เศรษฐกิจหดตัวเฉลี่ยกว่า -5% แต่เมื่อดูตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่เพียง 1.5% และทั้งปี 2567 วิจัยกรุงศรีคาดว่าจะเติบโตเพียง 2.4% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3.6% ในช่วงปี 2553-2562 (ช่วงหนึ่งทศวรรษก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19) และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 9.5% ในช่วงปี 2530-2539 ก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ปัจจัยเชิงโครงสร้างที่บั่นทอนการเติบโต อาทิ ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงในหลายอุตสาหกรรม ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางลงมา รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ เป็นต้น
 

ด้านภาคการคลังเริ่มส่งสัญญาณเปราะบาง โดยในช่วงที่ผ่านมา การขาดดุลงบประมาณต่อ GDP เพิ่มขึ้นมาก จากเพียง -0.4% ในปี 2540 เป็น -4.3% ในปีงบประมาณ 2567 และทางการคาดว่าการขาดดุลงบประมาณจะมากสุดเป็นประวัติการณ์ที่ -4.5% ในปีงบประมาณ 2568  ส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นจาก 40.5% ในปี 2540 เป็น 65.7% ในปีนี้ และทางการคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 68.9% ในปี 2570

อย่างไรก็ตาม ในปี 2567  วิจัยกรุงศรีคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ 2.4% โดยคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ตามปัจจัยเชิงวัฏจักร (Cyclical factors) โดยการใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทมากขึ้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่กลางไตรมาส 2 ของปีเป็นต้นไป ประกอบกับภาคท่องเที่ยวจะยังเป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันจะขยายตัวได้ต่อเนื่องและไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤต แต่เศรษฐกิจที่เติบโตต่ำ ท่ามกลางปัญหาเชิงโครงสร้าง กดดันทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่าทั้งปี 2566 มีธุรกิจปิดกิจการจำนวน 23,380 แห่ง (เพิ่มจากปีก่อนหน้า 6.9%) คิดเป็นทุนจดทะเบียน 160,056 ล้านบาท (เพิ่มจากปีก่อนหน้าราว 26%) ซึ่งสูงกว่าช่วงหลังวิกฤตในปี 2541 ซึ่งมีธุรกิจปิดกิจการจำนวน 11,699 แห่ง คิดเป็นทุนจดทะเบียน 30,325 ล้านบาท  

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมามีธุรกิจเกิดใหม่เพิ่มขึ้นมากเช่นกัน โดยธุรกิจที่เริ่มกิจการในปี 2566 มีจำนวน 85,300 แห่ง (เพิ่มจากปีก่อน 11.5%) คิดเป็นทุนจดทะเบียน 562,470 ล้านบาท  (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 30.9%) ขณะที่ภาคครัวเรือนมีสัดส่วนรายจ่ายต่อรายได้สูงและมีภาระหนี้มาก แม้ผ่านมาวิกฤตการเงินมาแล้วถึง 27 ปี แต่สัดส่วนรายจ่ายต่อรายได้ (Expense to income ratio) ของครัวเรือนไทยโดยเฉลี่ยยังค่อนข้างสูง โดยในปี 2566 สัดส่วนรายจ่ายต่อรายได้อยู่ที่ 81.6% ใกล้เคียงกับระดับ 83.5% ในช่วงหลังวิกฤตปี 2541 ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงถึง 91.3% ของ GDP ในปี 2566 (จากระดับ 42.2% ในปี 2546) 

สำหรับประชาชนทั่วไป แม้อัตราการว่างงานลดลงและจำนวนประชากรมีแนวโน้มลดลง แต่รายได้ต่อหัวของประชาชนเพิ่มขึ้นในอัตราในที่ช้า โดยรายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP per capita) ก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง (ปี 2530-2539) โตเฉลี่ยสูงถึง 13.4% ต่อปี และชะลอลงเหลือโตเฉลี่ยปีละ 5.4% ในช่วงก่อนโควิด-19 (ปี 2553-2562) ล่าสุดในปี 2566 รายได้เฉลี่ยต่อหัวโตเพียง 3.0% เท่านั้น