แกะรอย AMC ตัวช่วยสำคัญแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

05 ก.ย. 2567 | 23:00 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2567 | 01:27 น.

หนี้ครัวเรือนไทยทะยานสูงนับเป็นปัญหาใหญ่ ที่ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศโดยรวม แต่ยังทำให้คนตัวเล็กติดบ่วงหนี้ไร้ทางออก 3 ไตรมาสแรกปี 67 มูลหนี้ด้อยคุณภาพออกสู่ตลาดพุ่งกว่า 4 แสนล้าน ยังไม่รวมช่วยพีคปลายปี

ต้องยอมรับว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยในขณะนี้นับเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ เพราะเป็นความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม โดยหนี้ครัวเรือนของไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและมียอดคงค้างระดับสูงที่ 16 ล้านล้านบาทมานับตั้งแต่ไตรมาส 1/2566

ล่าสุด มียอดคงค้างทั้งสิ้น 16.370 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.8% ของ GDP และคุณภาพหนี้ครัวเรือนปรับลดลงต่อเนื่อง โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ "หนี้เสีย" ในไตรมาส 2/2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.84% หรือ 5.40 แสนล้านบาท จาก 2.80% ของสินเชื่อรวมในไตรมาส 1/2567

คาดว่าประเด็นดังกล่าวน่าจะกดดันให้สถาบันการเงิน (แบงก์) ต่างๆ เร่งปล่อยหนี้เสียในระบบออกมาประมูลขายจำนวนมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อกลุ่มธุรกิจบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) โดยตรง เพราะนอกจากจะทำให้ได้มูลหนี้ที่เตรียมซื้อเข้าพอร์ตกันเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังได้ประโยชน์จากต้นทุนราคาประมูลที่ไม่แพงมากนัก เนื่องจากมูลหนี้ที่ออกมาเยอะจะทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องแย่งกันซื้อ

นางสาววรลักษณ์ ชัยสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ CHASE หนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์จากการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและให้บริการติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สิน เปิดเผยว่า มูลหนี้ด้อยคุณภาพที่ปล่อยออกมาตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบัน ยอมรับว่าถูกสถาบันการเงินคัดปล่อยออกมาค่อนข้างสูงกว่าเมื่อเทียบกับปีก่อน

ซึ่งยังไม่รวมกับอีก 4 เดือนที่เหลือในปีนี้ ที่เป็นช่วงพีคของการประมูลหนี้ด้อยคุณภาพที่คาดว่าจะมีออกมาอีกจำนวนมาก ซึ่งอาจสูงกว่าเมื่อเทียบกับ 2 ไตรมาสแรกของปีนี้ เพราะเฉพาะ 2 เดือนแรกของไตรมาส 3/2567 (ก.ค.-ส.ค.67) สถาบันการเงินในประเทศได้ทยอยปล่อยเป็น TOR ออกมาเป็นจำนวนมาก

สาเหตุหลักๆ เป็นผลมาจากภาระหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มสู่ระดับสูง ทำให้ซัพพลายในตลาดมีเพิ่มมากขึ้น สถาบันการเงินเริ่มเห็นสัญญาณของการขยายตัว NPL ที่สูงขึ้น จึงทยอยตัดมูลหนี้ด้อยมูลค่าออกสู่ตลาดปริมาณมากขึ้น ซึ่งกว่าที่จะถูกตัดออกมาถึงมือของ AMC มาบริหารต่อก็ผ่านมาหลายกระบวนการ

ไม่ใช่เพียงว่าเมื่อลูกหนี้ State 3 ที่มียอดค้างชำระเกินกว่า 90 วันแล้วจะโดนคัดออกมาทันที ในระหว่างนั้นทางสถาบันการเงินก็มีการเข้าไปเจรจากับลูกค้าแล้ว ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือไปแล้วในระดับหนึ่ง และถูกประคับประคองมาจนถึงที่สุดแล้ว และแน่นอนรวมถึงผ่านกระบวรการตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการมาเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน

ยกตัวอย่างเช่น จ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ ผ่อนค่างวดบ้านไม่ตรงเวลา หรือตกงานแต่ยังต้องจ่ายสินเชื่อที่กู้มา สุดท้ายทำให้ความสามารถการผ่อนชำระหนี้ถึงทางตัน แต่มาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible lending, RL) โดยการปรับโครงสร้างให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ ทำให้แม้จะเป็นหนี้แต่ยังสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวประกอบด้วย

  1. การปรับโครงสร้างหนี้ (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567)
  2. การแก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt, PD) ให้กลุ่มเปราะบาง (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2567)
  3. การคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น เป็นต้น

 

AMC ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ประกอบด้วย

บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM
ผลการดำเนินงาน 3 ปีย้นหลัง (2564-2566)

  • รายได้รวม อยู่ที่ 13,306.23 ล้านบาท, 12,780.63 ล้านบาท และ 12.004.59 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ อยู่ที่ 2,600.22 ล้านบาท, 2,724.76 ล้านบาท และ 1,534.50 ล้านบาท
  • สินทรัพย์รวม อยู่ที่ 125,904.00 ล้านบาท, 132,804.57 ล้านบาท และ 137,314.51 ล้านบาท

ผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกปี 2567

  • รายได้รวม อยู่ที่ 6,461.36 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ อยู่ที่ 879.53 ล้านบาท
  • สินทรัพย์รวม อยู่ที่ 140,233.70 ล้านบาท

บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT
ผลการดำเนินงาน 3 ปีย้นหลัง (2564-2566)

  • รายได้รวม อยู่ที่ 3,656.20 ล้านบาท, 4,468.39 ล้านบาท และ 5,157.54 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ อยู่ที่ 1,400.37 ล้านบาท, 1,745.57 ล้านบาท และ 2,010.66 ล้านบาท
  • สินทรัพย์รวม อยู่ที่ 28,036.23 ล้านบาท, 33,861.63 ล้านบาท และ 422,444.45 ล้านบาท

ผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกปี 2567

  • รายได้รวม อยู่ที่ 2,703.68 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ อยู่ที่ 785.14 ล้านบาท
  • สินทรัพย์รวม อยู่ที่ 39,836.30 ล้านบาท

บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO
ผลการดำเนินงาน 3 ปีย้อนหลัง (2566-2564)

  • รายได้รวม อยู่ที่ 805.79 ล้านบาท, 1,0557.11 ล้านบาท และ 1,628.78 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ อยู่ที่ 219.00 ล้านบาท, 251.20 ล้านบาท และ 397.14 ล้านบาท
  • สินทรัพย์รวม อยู่ที่  5,089.88 ล้านบาท, 7,203.37 ล้านบาท และ 9,331.41 ล้านบาท

ผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกปี 2567

  • รายได้รวม อยู่ที่ 9,565.75 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ อยู่ที่ 79.94 ล้านบาท
  • สินทรัพย์รวม อยู่ที่ 9,565.75 ล้านบาท

บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ CHASE
ผลการดำเนินงาน 3 ปีย้นหลัง (2564-2566)

  • รายได้รวม อยู่ที่ 785.07 ล้านบาท, 676.62 ล้านบาท และ 681.46 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ อยู่ที่ 270.86 ล้านบาท, 144.09 ล้านบาท และ 133.02 ล้านบาท
  • สินทรัพย์รวม อยู่ที่ 2,506.00 ล้านบาท, 2,931.37 ล้านบาท และ 3,875.46 ล้านบาท

ผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกปี 2567

  • รายได้รวม อยู่ที่ 403.98 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ อยู่ที่ 67.59 ล้านบาท
  • สินทรัพย์รวม อยู่ที่ 4,132.62 ล้านบาท

บริษัท ตงฮั้ว โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TH
ผลการดำเนินงาน 3 ปีย้นหลัง (2564-2566)

  • รายได้รวมรวม อยู่ที่ 158.02 ล้านบาท, 424.14 ล้านบาท และ 446.77 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิรวม อยู่ที่ 96.11 ล้านบาท , 175.34 ล้านบาท และ 96.57 ล้านบาท
  • สินทรัพย์รวม อยู่ที่ 1,445.18 ล้านบาท, 1,627.37 ล้านบาท และ 1,711.92 ล้านบาท

ผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567

  • รายได้รวมรวม อยู่ที่ 235.73 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิรวม อยู่ที่ 97.47 ล้านบาท
  • สินทรัพย์รวม อยู่ที่ 1,794.43 ล้านบาท

บริษัท ไนท คลับ แคปปิตอล โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ KCC
ผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567

  • รายได้รวม อยู่ที่ 131.57 ล้านบาท
  • กำไรสุทธิ อยู่ที่ 39.20 ล้านบาท
  • สินทรัพย์รวม อยู่ที่ 2,729.92 ล้านบาท

นอกจากนี้ ก็ยังมีสถาบันการเงินในประเทศบางรายที่มีตั้งหน่วยงานบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพขึ้นมา เพื่อรองรับการจัดการกับหนี้สงสัยจะสูญ (NPLs) บางส่วนที่มีขององค์กรเอง และเพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกค้าที่กำลังประสบกับปัญหาอยู่ให้บรรเทาลง เพราะบางรายก็เป็นลูกหนี้ที่มีการชำระหนี้ที่ตรงเวลามาโดยตลอด แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวทำให้ได้รับผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ลง

ขณะเดียวกันก็มีทั้ง Non-bank และผู้ประกอบการเอกชนที่ดำเนินธุรกิจธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรายอื่นๆ ในตลาดทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ที่ไม่ได้เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์อีกหลายราย

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO เปิดเผยว่า ประเด็นที่รัฐบาลจะมีแผนพิจารณาการจัดตั้งหน่วยงานรับซื้อหนี้ด้อยคุณภาพแห่งชาติขึ้นมา เพื่อรับซื้อหนี้ด้อยคุณภาพ และเพื่อเข้ามาเป็นอีกหนึ่งกำลังในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่กำลังมีปัญหาได้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และช่วยเหลือลูกค้าปรับปรุงโครงสร้างหนี้เหล่านี้นั้น

ความคิดเห็นส่วนตัวมองว่าอาจไม่ถึงขั้นที่จะต้องจัดตั้งหน่วยงานซื้อหนี้ด้อยคุณภาพแห่งชาติดังกล่าวขึ้นมา เพราะในปัจจุบันทั้ง บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM หรือแม้กระทั่ง บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ที่มีกองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ อันดับ 1 ในสัดส่วน 45.79%

ทั้ง 2 หน่วยงานข้างต้นก็มีความสามารถในการรับซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารจัดการ รวมถึงช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาอยู่แล้วได้ โดยหากอยากเพิ่มศักยภาพในการช่วยเหลือให้เพิ่มขึ้น ก็มีหลายช่องทางที่ทำได้ เช่น การที่กองทุนใส่เงินเพิ่มเพื่อให้ทั้ง 2 บริษัทมีขีดความสามารถในการช่วยเหลือประชาชนได้

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ภาคเอกชนรายอื่นๆ ก็สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือได้เช่นเดียวกัน ซึ่งตลอดมา CHAYO เองก็เป็นอีกแรงหนึ่งที่พยายามจะเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหา เข้าไปเจรจาและช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ต่างๆ หาทางออก และทำให้ลูกหนี้ได้กลับมายืนได้อีกครั้ง

สำหรับธุรกิจของ CHAYO นั้น รายได้หลักยังมาจากธุรกิจบริหารสินทรัพย์และการรับซื้อหนี้ด้อยคุณภาพ โดยนับตั้งเดือนมกราคมมาจนถึงปัจจุบันมีมูลหนี้ด้อยคุณภาพที่ปล่อยประมูลออกมาถึงมือแล้วมูลค่ารวมกว่า 400,000 ล้านบาท ซึ่งมีการประกาศผลผู้ชนะไปแล้วราว 300,000 ล้านบาท

และยังเหลือที่กำลังจะทยอยประกาศผลในช่วงที่เหลือของปี 2567 นี้ อีกราว 80,000-90,000 ล้านบาท มูลหนี้ด้อยคุณภาพที่ถูกปล่อยออกมาในปี 2567 ยอมรับว่าสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ บริษัทยังคงมีเงินสดเหลืออยู่ในมือรองรับการซื้อหนี้ในช่วงที่เหลือของปี 2567 นี้ อีกกว่า 1,000-1,100 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถซื้อหนี้ด้อยคุณภาพก้อนใหม่เข้ามาเติบพอร์ตได้เพิ่ม มูลค่าไม่น้อยกว่า 10,000-15,000 ล้านบาท

ธุรกิจเร่งรัดติดตามหนี้ มองว่าในช่วงครึ่งหลังปี 2567 มีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าทั้งเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกปี และเมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน โดยการเติบโตยังคงเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป

อนึ่ง แม้ด้วยมูลหนี้ที่ออกมามีปริมาณมากขึ้นอาจเป็นผลดีต่อการต่อรองราคา แต่ในทางกลับกันก็มีความเสี่ยงที่ยอดกระแสเงินสดจากการจัดเก็บหนี้ (Cash Collection) ลดลง เพราะด้วยลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องของสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง และอาจไปกดดันทำให้ผลขาดทุนทางด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss: ECL) เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ประกอบการ AMC ตามไปด้วย

จากปัจจัยทั้งหมดทั้งมวลที่ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้นำเสนอไปข้างต้น และอยากเป็นอีกหนึ่งกำลังที่ช่วยให้ผู้ที่ประสบปัญหาได้มีทางออก เมื่อพบว่ามีภาระหนี้ที่ไม่สามารถผ่อนชำระได้ทันตามเวลาที่กำหนด ลูกหนี้ควรทำตามขั้นตอน ดังนี้

  1. รีบติดต่อเจ้าหนี้ 
  2. ทำความเข้าใจเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น การขยายระยะเวลาชำระหนี้ ซึ่งจะช่วยให้จำนวนผ่อนต่อเดือนลดลง แต่ดอกเบี้ยรวมจะมากขึ้น 
  3. ทำตามเงื่อนไขที่ได้รับและต้องชำระหนี้ตรงเวลา