นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ทางฝ่ายคาดการณ์ว่าผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในคืนนี้ จะยังคงมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอยู่ ในมุมมองส่วนตัวเชื่อว่าจะเป็นการปรับลดแบบค่อยเป็นค่อยไปที่ 0.25% มากกว่า ลดลงอย่างร้อนแรง 0.50%
เพราะอาจสะท้อนต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ถดถอยอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงอาจไม่ชอบ แน่นอนว่าจะกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกรวมไปถึงไทยด้วย อีกทั้ง ด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจของทางสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่ได้แย่จนถึงขั้นที่จะต้องใช้ยาแรง อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง
และเชื่อว่าในช่วงที่เหลือของปี 67 นี้ ที่ยังคงเหลือการประชุมในเดือนพ.ย. และเดือน ธ.ค. เฟดก็จะยังคงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.25% ในขณะที่ปี 68 คาดการณ์ว่าจะยังคงมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 4 ครั้ง ในระดับใกล้เคียงกันที่ 0.25% ต่อครั้ง เช่นเดียวกัน
ด้านความเสี่ยงของการลงทุน ถามว่าระหว่างการลงทุนในหุ้น ทองคำ และการฝากเงิน แบบไหนที่จะปลอดภัยที่สุด ส่วนตัวมองว่าความเสี่ยงอาจต้องวัดน้ำหนักที่ผลตอบแทน การถือเงินสดหรือฝากเงินอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก มองว่าการลงทุนหุ้นยังมีความน่าสนใจมากที่สุด เพราะที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทย และราคาหน้าหุ้นใหญ่เองก็ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว
ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเป็นขาลง แน่นอนว่าผลตอบแทนฝั่งของบอนด์ยีลด์ก็ลดลงด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น การลงทุนในหุ้นอาจตอบโจทย์ได้มากกว่า โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นปลอดภัยที่ให้ปันผลสูง ซึ่งจะเริ่มเห็นได้ว่ากองทุนมีสัญญาณการกลับมองหาหุ้นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าในอดีต
มองว่าตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันดีกว่าเมื่อเทียบกับตลาดเพื่อนบ้าน โดยแนวโน้มตัวเลข GDP ในช่วงไตรมาส 3-4/67 จะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสนับสนุนหลักๆ เป็นผลมาจากมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งทำให้หน้าหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศยังมีความน่าสนใจ ในขณะที่ระยะสั้นกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์เงินบาทแข็งค่าก็สามารถซื้อเก็งกำไรได้
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาจากการอ่อนค่าลงของดอลลาร์ เป็นผลมาจากความคาดหวังสูงต่อการคัดเรต หากว่าการลดดอกเบี้ยลง 0.25% ก็อาจได้เห็นการกระตุกขึ้นแข็งค่าของดอลลาร์ในช่วงสั้นๆ และอาจส่งผลกระทบต่อความผันผวนของค่าเงินทั่วโลก ในขณะที่ค่าเงินบาทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33 บาทตอนต้น/ดอลลาร์
ทางฝ่ายประเมินกรอบอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินบาท/ดอลลาร์ไว้ที่แนวรับ 32.50 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นแนวรับสำคัญ ยิ่งเข้าใกล้ระดับดังกล่าว ก็มีโอกาสที่จะได้เห็นการกระตุกอ่อนค่าในระยะสั้นๆ ขึ้นมาได้ อีกทั้งที่ผ่านมาเงินบาทพยายามปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาตลอด และขึ้นมาค่อนข้างเร็วเกินไป ทำให้อาจเห็นการเด้งระยะสั้นกลับไปอยู่ที่ระดับ 33.00-34.00 บาท/ดอลลาร์ เป็นแนวต้าน
การเล่นเก็งกำไรกลุ่มหุ้นที่ได้รับอานิสงส์ดอลลาร์อ่อนค่าและเงินบาทแข็งค่า อาทิ กลุ่มที่พื้นฐานการส่งออกไม่ได้แย่ ได้แก่ CCET ที่คาดการณ์ว่ากำไรในช่วงครึ่งหลังปี 67 จะฟื้นตัวดีขึ้นกว่าเมื่อเทียบกับครึ่งแรกปีนี้ การมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทำให้ดีต่อมาร์จิ้น และการย้ายฐานทุนเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ทำให้เห็นถึงความคลายคลึงกับ DELTA ซึ่งตลาดชอบสตอรี่แบบนี้
หุ้นส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง จากตัวเลขการส่งออกย้อนหลังไปประมาณ 10 เดือน จะเห็นได้ว่าการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงยังมีการขยายตัวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงมองว่าการตั้งรับ ITC ค่อนข้างน่าสนใจ และหุ้นกลุ่มส่งออกเครื่องดื่ม มอง COCOCO เด่น ด้วยกำไรไตรมาส 3/67 มีโอกาสทุบสถิติใหม่ สวนทางอุตสาหกรรมที่พีคในไตรมาส 2 แม้ต้นทุนมะพร้าวสูงขึ้น แต่การขยายตลาดจีนเริ่มเห็นผล วอลุ่มการส่งออกเพิ่มจากการขยายฐานลูกค้าเข้ามาชดเชย
สำหรับการลงทุนในกลุ่มหุ้นที่อิงกับการฟื้่นตัวของเศรษฐกิจในประเทศนั้น มองว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์ ไฟแนนซ์ ค้าปลีก การท่องเที่ยว โรงพยาบาล และโรงไฟฟ้า ค่อนข้างมีความน่าสนใจ โดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ แนะนำ KBANK รับอานิสงส์ 10 มาตรการเร่งแก้หนี้โดยเฉพาะ SMEs ของภาครัฐ อีกทั้งยังมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีกว่าอุตสาหกรรม
กลุ่มไฟแนนซ์ แนะนำ MTC เนื่องจากมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับเจ้าอื่นๆ ในตลาด ในขณะที่ไฟแนนซ์ขนาดกลาง-เล็ก แนะนำ SGC ด้วยราคาหุ้นที่ดีขึ้นเรื่อยๆ และมีโมเมนตัมไปต่อ โปรเจ็กต์ปล่อยสินเชื่อ Lock-Phone ได้รับการตอบรับที่ดี และมีแนวโน้มเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มการท่องเที่ยว มองความน่าสนใจในหุ้น AAV เนื่องจากดีมานด์ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2/67 อีกทั้งในช่วงเดือนต.ค. จะเข้า Golden Week เป็นช่วงวันหยุดประจำชาติทำให้คาดว่าความต้องการเดินทางจะสูงขึ้น นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลแถลงจะนำเอาโครงการ "เราเที่ยวด้วยกัน" กลับมาอีกครั้ง จะเป็นแรงหนุนให้โอกาสขยายตัวของการเดินทางเพิ่มขึ้น
กลุ่มโรงพยาบาล แนะนำ หุ้นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ BH เนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบจากสิทธิ์ประกันสังคม และสัดส่วนรายได้เชื่อมโยงกับฐานลูกค้าต่างชาติ มีเพียงปัจจัยการกลับมาของคนไข้คูเวตว่าจะปลดล็อกได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนตัวมองว่าท้ายที่สุดคูเวตจะยังส่งคนไข้มารักษาตัวในไทยอยู่ เพียงแต่อาจจำกัดสิทธิ์โรงพยาบาลมากขึ้น แต่เชื่อว่า BH จะยังคงติด 1 ใน 3 อยู่
กลุ่มค้าปลีก แนะนำ CPALL เพราะความต้องการบริโภคมีการขยายตัวที่ดีขึ้น อีกทั้งยังได้รับอานิสงส์จากมาตรการดิจิทัลวอลเลต ซึ่งทำให้บริษัทในเครือเอง อย่าง CPF และ CPAXT ก็ได้รับประโยชน์ด้วยเช่นเดียวกัน ขณะที่กลุ่มโรงไฟฟ้า แนะนำ GPSC เนื่องจากผลการดำเนินงานในไตรมาส 3-4/67 มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง