เปิดจุดแข็ง 5 กลุ่มทุน ชิงใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา(Virtual Bank)

24 ก.ย. 2567 | 08:00 น.
อัพเดตล่าสุด :24 ก.ย. 2567 | 08:28 น.

เปิดจุดแข็ง 5 กลุ่มยักษ์ใหญ่ ชิงใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา(Virtual Bank) แต่ละกลุ่มมาพร้อมจุดแข็งที่แตกต่างกัน  ความถนัดคนละแบบ แต่โครงสร้างคล้านกัน ฐานข้อมูลผู้บริโภคแน่น ดึงพันธมิตรเสริมแกร่ง

ตามที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) มายัง ธปท. จนถึงวันที่ 19 กันยายน 2567 ซึ่งขณะนี้ทาง ธปท. ได้ปิดรับคำขอแล้ว และมีผู้ยื่นคำขอจำนวนทั้งสิ้น 5 ราย

5 กลุ่มทุนยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank

5 กลุ่มทุนยื่นขอใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา(Virtual Bank)

  • กลุ่ม Sea ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กลุ่มบีทีเอส เครือสหพัฒน์ และไปรษณีย์ไทย
  • กลุ่มธนาคารกรุงไทย (KTB) ร่วมกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) และบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR)
  • กลุ่ม บริษัท เอสซีบี เอกซ์ (SCBX) ร่วมกับพันธมิตรต่างชาติอย่าง KakaoBank จากเกาหลีใต้ และ WeBank จากจีน 
  • กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) ผ่านบริษัท แอสเซนด์ มันนี่ ผู้ให้บริการ e-wallet "ทรูมันนี่" ร่วมกับ แอนท์ กรุ๊ป จากจีน 
  • กลุ่ม Lighthub Asset และ Lightnet Group ร่วมกับ WeLab จากฮ่องกง

ต้องยอมรับว่า 5 กลุ่มยักษ์ใหญ่ยื่นขอจัดตั้งธนาคารไร้สาขาหรือ Virtual Bank แต่ละกลุ่มมาพร้อมจุดแข็งที่แตกต่างกัน 

จุดแข็ง5 กลุ่มทุนยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank

กลุ่มแรก นำโดยกลุ่ม Sea ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กลุ่มบีทีเอส เครือสหพัฒน์ และไปรษณีย์ไทย

กลุ่มนี้มาพร้อมความแข็งแกร่งทางการเงินและเครือข่ายธุรกิจที่หลากหลาย โดยมีธนาคารกรุงเทพ ธนาคารพาณิชย์ที่มีสินทรัพย์รวมอันดับ 1 ของไทยที่ 3.97 ล้านล้านบาท และฐานเงินฝากที่ใหญ่ที่สุดถึง 2.72 ล้านล้านบาท

ขณะที่กลุ่ม BTS มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลผ่านบริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ ที่มีฐานผู้ใช้บริการกว่า 6.8 ล้านราย และเครือข่ายร้านค้าทั่วประเทศของเครือสหพัฒน์ รวมถึงจุดให้บริการกว่า 5,000 แห่งของไปรษณีย์ไทย ทำให้กลุ่มนี้มีศักยภาพในการเข้าถึงลูกค้าได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ

กลุ่มที่สอง นำโดยธนาคารกรุงไทย (KTB) ร่วมกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) และบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) เป็นการผสานจุดแข็งของสามยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน

เริ่มจาก KTB ธนาคารพาณิชย์ที่มีสินทรัพย์รวมอันดับ 2 ของประเทศที่ 3.62 ล้านล้านบาท และเป็นผู้นำด้านสินเชื่อ มีแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT ที่มีผู้ใช้งานกว่า 17 ล้านราย และแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" ที่มีผู้ใช้งานมากถึง 34 ล้านราย ซึ่งเป็นฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการพัฒนาธนาคารไร้สาขา

ขณะที่ AIS มีฐานลูกค้าโทรศัพท์มือถือกว่า 50 ล้านเลขหมายและเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ส่วน OR มีเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันและร้านค้าปลีกทั่วประเทศ พร้อมฐานสมาชิก Blue Card กว่า 15 ล้านราย 

กลุ่มที่สาม นำโดยบริษัท เอสซีบี เอกซ์ (SCBX) ร่วมกับพันธมิตรต่างชาติอย่าง KakaoBank จากเกาหลีใต้ และ WeBank จากจีน 

SCBX เป็นธนาคารที่มีสินทรัพย์อันดับ 4 ของประเทศที่ 3.41 ล้านล้านบาท พร้อมด้วยความเชี่ยวชาญด้านการธนาคารดิจิทัลที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง 

ขณะที่ KakaoBank มีประสบการณ์ความสำเร็จในการเป็นธนาคารเสมือนชั้นนำของเกาหลีใต้ที่มีผู้ใช้งานกว่า 20 ล้านคน 

ส่วน WeBank จากจีนมีความเชี่ยวชาญในการให้บริการลูกค้ารายย่อยและ SMEs ผ่านเทคโนโลยี AI, Blockchain, Cloud Computing และ Big Data ซึ่งช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

กลุ่มที่สี่ นำโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) ผ่านบริษัท แอสเซนด์ มันนี่ ผู้ให้บริการ e-wallet "ทรูมันนี่" ร่วมกับ แอนท์ กรุ๊ป จากจีน 

จุดแข็งของกลุ่มนี้อยู่ที่เครือข่ายธุรกิจอันกว้างขวางของ CP ที่ครอบคลุมร้านค้าปลีกกว่า 15,000 แห่งทั่วประเทศ ผนวกกับฐานผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน TrueMoney ที่มีมากถึง 27 ล้านราย โดยมีผู้ใช้งานประจำเดือนละ 17-18 ล้านคน

ขณะที่ Ant Group นำประสบการณ์จาก Alipay ที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลกมาช่วยพัฒนาระบบการเงินดิจิทัลที่ทันสมัย การผสานจุดแข็งของทั้งสองบริษัทนี้จะสร้างระบบนิเวศทางการเงินที่ครบวงจรและตอบโจทย์ผู้บริโภคไทยได้อย่างตรงจุด

กลุ่มสุดท้าย นำโดย Lighthub Asset และ Lightnet Group ร่วมกับ WeLab จากฮ่องกง

กลุ่มนี้เป็นการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญด้านฟินเทคระดับแนวหน้าของไทยและเอเชีย 

Lighthub Asset ก่อตั้งโดยนายชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ที่มีประสบการณ์ในวงการการเงินกว่า 30 ปี พร้อมฐานลูกค้าในไทยกว่า 46 ล้านราย และช่องทางให้บริการกว่า 150,000 จุดทั่วประเทศ 

ส่วน Lightnet Group เป็นบริษัทฟินเทคของไทยที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก มีใบอนุญาตให้บริการทางการเงินจากธนาคารกลางหลายประเทศในเอเชียและยุโรป 

ขณะที่ WeLab นำประสบการณ์ในการเป็นผู้นำด้าน Virtual Bank ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมาร่วมพัฒนา AI-driven Virtual Bank ในประเทศไทย

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.ลิเบอเรเตอร์ วิเคราะห์ว่า ทั้ง 5 กลุ่มที่เข้าร่วมขอใบอนุญาต Virtual bank ในครั้งนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นระดับ Big name ในประเทศไทย ซึ่งต่างก็เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ (know How) และมีพันธมิตรต่างประเทศ ที่แข็งแกร่ง เข้ามาเป็นตัวช่วยเสริมทัพ

วิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.ลิเบอเรเตอร์

อย่างไรก็ตาม Virtual Bank ในไทยต้องใช้ระยะเวลา เนื่องจากกว่าที่ทางธปท.จะมีการพิจารณาและเคาะบทสรุป ก็ล่วงเลยไปจนถึงช่วงกลางปี 2568 อีกทั้งจากการศึกษาการดำเนินงานของ Virtual Bank ในต่างประเทศ พบว่า ในอดีตผู้ที่ลงทุน Virtual Bank ไม่สามารถถึงจุดคุ้มทุนได้ง่ายๆ ในระยะเวลาอันสั้น ต้องใช้ระยะเวลา

"ในระยะกลางระยะยาว Virtual Bank ยังพอเป็นไปได้อยู่ แน่นอนว่าด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงไป สอดรับกับเทคโนโลยีที่มีการปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ในอนาคต Virtual Bank จะตอบโจทย์ผู้บริโภคได้มาก"

หากถามว่าศักยภาพของ 5 กลุ่มนี้ มีจุดอ่อนหรือจุดแข็งมากกว่ากัน ก็ต้องยอมรับว่าแต่ละกลุ่มมีจุดแข็งในแต่ละด้านที่แตกต่างกัน แน่นอนว่า อาจไม่ได้ดีครบเต็ม 100% แต่ด้วยแนวทางในการลงทุนและโครงสร้างของธุรกิจตามข้อมูลที่มีในเบื้องต้น ก็มองว่ามีความคล้ายๆ กันอยู่ และที่สำคัญที่สุดผู้เล่นทุกรายมีฐานข้อมูลลูกค้าอยู่ในมือ ซึ่งนั้นจะเป็นจุดสำคัญที่จะนำไปต่อยอด Virtual Bank ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทั้ง 5 กลุ่ม Big name จะเป็นกลุ่มใหญ่ที่มีศักยภาพมี knowhow และพันธมิตร เข้ามาช่วยสนับสนุนการดำเนินงาน Virtual Bank ในอนาคต แต่ทางธปท. เองก็อาจจะเลือก เพียง 1-3 รายจากทั้งหมด 5 รายเท่านั้น จากนี้ก็คงต้องไปดูกัน ในรายละเอียดเชิงลึกว่า แต่ละกลุ่มวางโครงสร้างการลงทุนไว้อย่างไรบ้างพันธมิตรจะเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพในด้านใดได้บ้าง

การแข่งขันของ 5 กลุ่มยักษ์ใหญ่นี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้กับวงการธนาคารไทย โดยแต่ละกลุ่มมีจุดแข็งที่แตกต่างกัน ทั้งด้านความแข็งแกร่งทางการเงิน เครือข่ายธุรกิจ ฐานลูกค้า และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะนำมาสู่การพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่หลากหลายและตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคดิจิทัลได้อย่างครอบคลุม 

ในท้ายที่สุดต้องจับตาดูว่าการแข่งขันของ 5 กลุ่มยักษ์ใหญ่นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติวงการธนาคารไทย ที่จะนำพาประเทศไทยก้าวสู่ยุคการเงินดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนไทยได้เข้าถึงบริการทางการเงินที่ทันสมัย สะดวก และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นหรือไม่