ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนต.ค. 67 ที่สำรวจระหว่างวันที่ 20-31 ต.ค. 67 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ม.ค.68) อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรงอย่างมาก”
ซึ่งนับว่าต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน ที่ระดับ 160.66 โดยนักลงทุนมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมา คือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์เงินเฟ้อ รองลงมา คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ เป็นต้น
นอกจากนี้ ผลสำรวจ ณ เดือนต.ค. 67 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับลดลง 6% อยู่ที่ระดับ 138.71 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลดลง 14.3% อยู่ที่ระดับ 150.00 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศทรงตัวอยู่ที่ระดับ 140.00 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศปรับลดลง 10.0% อยู่ที่ระดับ 180.00
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนครึ่งแรกของเดือนต.ค. 67 SET Index ปรับตัวในกรอบแคบ ก่อนจะปรับตัวขึ้นในช่วงกลางเดือนหลังได้แรงกระตุ้นจากการที่ กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% และปรับตัวลงในเวลาต่อมาจากแรงขายทำกำไรของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติจากมุมมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะยังไม่เร่งลดดอกเบี้ย และความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
โดย SET Index ณ สิ้นเดือนต.ค. 67 ปิดที่ 1,466.04 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2% จากเดือนก่อนหน้า ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนตุลาคม 2567 อยู่ที่ 54,750 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 27,968 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิกว่า 122,757 ล้านบาท
ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นในตะวันออกกลาง ซึ่งสร้างความกังวลว่าอาจเกิดการลุกลาม ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 5 พ.ย. 67 และทิศทางนโยบายการค้าของสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้ง ซึ่งอาจส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวน รวมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของรัฐบาลจีน
ส่วนปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ แรงหนุนจากการท่องเที่ยวและส่งออกซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว แนวโน้มของเงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเงินซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจของ กนง. ในการลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป
รวมไปถึงแรงหนุนจากการซื้อกองทุน ThaiESG และกองทุนวายุภักษ์ในช่วงท้ายของปี รวมถึงผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3/67 ที่คาดว่าจะออกมาดีในทิศทางเดียวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ