ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัท ทรีนีตี้วัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ TNITY เปิดเผยว่า มองทิศทางตลาดหุ้นไทยในปี 68 คาดว่ายังคงมีความผันผวนอยู่ ซึ่งมีผลมาจากปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยปัจจัยในประเทศนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านักลงทุนตั้งความหวังไว้กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการอัดฉีดเงินลงทุนของรัฐฯ
ต้องรอดูว่านโยบายที่รัฐบาลเคยตั้งเป้าหมายไว้ก่อนหน้านี้จะสามารถเห็นความชัดเจนได้จริงในปี 68 มากน้อยแค่ไหน ส่วนการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 2 ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีชึ้นไป และแจกเงินดิจิทัล 10,000 เฟส 3 ให้กับกลุ่มลงทะเบียนผ่านแอปฯ “ทางรัฐ” เมื่อวันที่ 15 ก.ย.67 ที่ผ่านมา คาดว่าจะเข้ามาช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศได้บ้างแต่ไม่มาก
นอกจากนี้ ก็ยังคงต้องความหวังที่การอัดฉีดเม็ดลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่างๆ รวมถึงการผลักดันของโปรเจ็กต์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ซึ่งจะเป็นอีกแรงหนุนสำคัญในการใส่เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่การดำเนินการก่อสร้าง ไปจนถึงในด้านของการท่องเที่ยว
รวมถึงยังต้องจับตาแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ ซึ่งทางฝ่ายคาดการณ์ว่าในปี 68 จะได้เห็นการปรับลงอีก 1 ครั้ง ที่ 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 2% แต่ยังไม่สามารถชดเชยผลกระทบจากเทรดวอร์ลงได้
อย่างไรก็ดี หากว่ามีเซอร์ไพรส์แบงก์ชาติหั่นดอกเบี้ยไทยลงมาเหลือที่ราว 1.5% ได้ ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อ จะช่วยชดเชยผลกระทบจากเทรดวอร์ลงได้ ต้นทุนทางการเงินภาคเอกชนลดลง
ขณะเดียวกันประเด็นการปรับโครงสร้างภาษี ทั้งการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) ที่อัตรา 15%, ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และปรับเพิ่มภาษีบริโภค หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่จะปรับขึ้นจาก 7% เป็น 10% มองว่าในระยะสั้นเกิดผลกระทบต่อการบริโภคของประชาชนแน่นอน
แต่หากย้อนกลับไปดูกรณีศึกษาของประเทศญี่ปุ่นที่ก็เคยมีการหักดิบปรับโครงสร้างภาษี เก็บ VAT ทำให้กว่า 14-15 ปี กว่าที่จะหลุดออกจากกับดับเงินเฟ้อมาได้ แต่ดูในเวลานี้สภาพเศรษฐกิจในญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้นมากแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าปรับโครงสร้างภาษีจะส่งผลดีในระยะยาว
"ปี 68 ยังมีสิ่งที่ท้าทายประเทศไทยหลายเรื่อง รัฐเก็บรายได้ลดลง แต่ค่าใช้จ่ายของภาครัฐฯ เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบเปอร์เซ็นต์ต่อ GDP ค่าใช้จ่ายภาครัฐอยู่ที่กว่า 18-19% ในขณะที่รายได้อยู่ที่ราว 15-16% เท่านั้น จะเห็นได้ว่าช่องว่ามันถ่างออกไปมาก จึงเป็นเหตุผลที่คลังอยากขึ้นภาษี ในช่วงโควิดระบาดค่าใช้จ่ายสูงถึง 24% แต่รายได้อยู่ที่ 15% เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะในช่วงที่ประเทศกำลังเกิดวิกฤตรัฐจ้องอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ล้มลง แต่ปัจจุบันนี้มันไม่ใช่ ช่วงว่างหระว่าค่าใช้จ่ายและรายได้ไม่ควรห่างกันขนาดนั้น"
ส่วนปัจจัยต่างประเทศนั้น หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้ได้หวนคืนสู่ทำเนียบขาวเป็นสมัยที่ 2 แต่การกลับมาของทรัมป์ในครั้งนี้ก็มาพร้อมกับความวุ่นวายพอสมควร โดยเฉพาะในเรื่องของนโยบายในการบริหารประเทศที่มีการออกมาเปรยเป็นระยะๆ
ทำให้ตลาดเกิดความกังวลใจ แม้ว่าด้วยนโยบายการปรับลดภาษีนิติบุคคลของทรัมป์จะส่งอานิสงส์เชิงบวกต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้กระแสเงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นไทยกลับไปยังสหรัฐฯ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าในปัจจุบันเงินทุนต่างชาติยังคงมีสถานะขายสุทธิอยู่
แต่ในระยะ 2-3 สัปดาห์ข้างหน้านี้ หากว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ออกมาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีก 1 ครั้ง ก็มีโอกาสที่จะเห็นกระแสเงินทุนต่างชาติสลับไหลกลับเข้ามายังตลาดหุ้นไทยบ้างในช่วงปลายปี 67 นี้ เพื่อเป็นการพักความเสี่ยงลงของนักลงทุน
สิ่งที่น่ากังวลใจยิ่งกว่าคือเรื่องของการขึ้นภาษีนำเข้าในประเทศที่การค้าเกินดุลของสหรัฐฯ แน่นอนว่าในรอบนี้ จีนถูกเพ่งเล็งมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันในกลุ่มประเทศเอเชียก็อาจรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ ตามไปด้วย เพราะมีโอกาสที่เวียดนาม มาเลเซีย และไทย จะโดนหางเลขไปด้วย เนื่องจากตัวเลขดุลการค้าล่าสุดที่ออกมามูลค่าเกินดุลการค้าสหรัฐฯ ไปไม่น้อย
ในช่วงปี 67 หลายบริษัทที่เกี่ยวเนื่องในอุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมีได้มีการตั้งสำรองไปค่อนข้างมากแล้ว ทั้ง PTTGC และ IVL ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า EPS ในปี 67 คงไม่เติบโต หรืออาจโตน้อยกว่าเมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน แต่สถานการณ์การตั้งสำรองจะดีขึ้นในปี 68 หากว่าราคาน้ำมันไม่ร่วงแรงๆ ซ้ำอีกครั้ง
"ต้องยอมรับว่าหุ้นในกลุ่มพลังงานก็เป็นสัดส่วนการลงทุนหลักในตลาดทุนไทย ทำให้เมื่อกลุ่มนี้เมื่อได้รับผลกระทบตลาดหุ้นไทยเองก็รับผลตามไปด้วย อย่างไรก็ดี EPS หุ้นในปี 67 คาดจะอยู่ที่ระดับ 78 บาท หากว่าปี 68 ไม่มีการตั้งสำรองของกลุ่มพลังงานและปิโตรฯ ก็คาดว่า EPS จะบวกได้อีกแบบตัวเลข 2 หลักตอนกลาง หรือขึ้นมาเป็น 86-87 บาท"
โดยทางฝ่ายประเมินกรอบดัชนีตลาดหุ้นไทยในปี 68 ไว้ที่กรอบแนวรับระดับ 1,300 จุด และกรอบแนวต้านที่ระดับ 1,500-1,550 จุด
ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปี 67 นี้ มองว่าบรรยากาศมีโมเมนตัมที่ดี ด้วยกระแสกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน หรือ Thailand ESG Fund (TESG) ที่ได้รับความสนใจอย่างมาก สามารถใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คาดว่าจะเข้ามาช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุนในช่วงปลายปี 67 นี้ได้
เพียงตลาดหุ้นไทยก็ยังมีความเสี่ยงจากผู้ที่ถือกองทุน LTF ที่ครบกำหนด 7 ปี ในปี 67 ที่คาดว่าอาจเห็นแรงขายออกประมาณ 60,000-70,000 ล้านบาท จากสถานะคงค้างในปัจจุบันรวมทั้งสิ้นกว่า 240,000 ล้านบาท สำหรับดัชนีตลาดหุ้นไทยสิ้นปี 67 นี้ คาดว่าอยู่ที่ระดับ 1,480 จุด