จากการผลักดันมาตรการชั่วคราวเพิ่มเติมของภาครัฐ ภายใต้ชื่อโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs เฉพาะกลุ่ม หนี้ครัวเรือนเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนและการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย
ต้องยอมรับว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน รายได้ของครัวเรือนและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) บางกลุ่มยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ขณะที่ภาระหนี้และค่าครองชีพหรือต้นทุนการประกอบธุรกิจยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางจำนวนมากยังเผชิญกับปัญหาในการชำระหนี้อยู่
โดยที่ โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ประกอบด้วย 2 มาตรการ ได้แก่
มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์” เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินไม่สูงมาก ให้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและพักภาระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดชำระเงินต้นทั้งหมด ขณะที่ดอกเบี้ยที่พักไว้ตลอดระยะเวลา 3 ปี หลักๆ เพื่อให้ช่วยให้ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวสามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มสภาพคล่องที่ดีขึ้นด้วย
มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ” เป็นการช่วยลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย (สถานะ NPL) แต่มียอดคงค้างหนี้ไม่สูง (ไม่เกิน 5,000 บาท) โดยลูกหนี้จะต้องเข้ามาเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้บางส่วน ซึ่งมาตรการ “จ่าย ปิด จบ” นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียและยอดหนี้ไม่สูง สามารถเปลี่ยนสถานะการเป็นหนี้ จาก “หนี้เสีย” เป็น “ปิดจบหนี้” และเริ่มต้นใหม่ได้เร็วขึ้น
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากประเด็นที่าภครัฐได้ผลักดันมาตรการชั่วคราวผ่านโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs เฉพาะกลุ่ม เพื่อเร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันที่ยังอยู่ในระดับสูง
มองในข้อดี คือ ลูกค้าที่เป็นหนี้เสีย (NPLs) ที่อยู่ในระบบของทั้งสถาบันการเงิน (แบงก์) โดยเฉพาะกลุ่มที่มีบัญชีหนี้ขนาดไม่ใหญ่มากนักสามารถกลับมาดำเนินการทางธุรกิจได้ มีสภาพคล่องในการดำเนินชีวิตที่เพิ่มขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายลง และกลับมายื่นกู้ได้ใหม่ในอนาคต แบงก์เองก็ได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากคุณภาพพอร์ตสินเชื่อที่ดีขึ้น
ในขณะที่กลุ่มหนี้เสีย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่สร้างรายได้ให้กับแบงก์อยู่แล้ว ต้องการ "จ่าย ปิด จบ" ยอมจ่ายราว 10% ของมูลค่าหนี้ที่ตนมี เพื่อไถ่ตัวเองออกจากบัญชี NPLs ก็มองว่าเป้นผลดีกับสถาบันการเงิน แต่ก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานแต่อย่างใด เนื่องจากเป้นกลุ่มที่แบงก์ต้องตั้งสำรองไว้อยู่แล้ว
ทั้งนี้ ก็คงต้องขึ้นอยู่กับว่าลูกหนี้ที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการนั้นมีเข้ามามากน้อยแค่ไหน โดยหากว่าลูกหนี้เข้าใช้สิทธิ์จำนวนมากก็มองว่าอาจส่งผลกระทบในแง่ผลการดำเนินงานต่อกลุ่มแบงก์ เพราะจะทำให้รายได้ดอกเบี้ยปรับตัวลดลงเล็กน้อย ซึ่งเป็นไปตามการพักจ่ายหนี้
"หากจะให้ประเมินเป็นเม็ดเงินคร่าวๆ ของการช่วยเหลือลูกหนี้ในครั้งนี้ ก็ต้องบอกเลยว่าตอนนี้อาจทำได้ยาก เนื่องจากยังไม่ทราบถึงยอดลูกหนี้ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ อีกทั้งในแต่ละแบงก์ก็มีพอร์ตลูกหนี้ที่เป็น NPLs ที่แตกต่างกัน ดังนั้นแต่ละแบงก์ก็จะได้รับผลกระทบที่แตกต่างเช่นกัน"
อย่างไรก็ตาม ตลาดเลือกมองในมุมบวกมากกว่า เพราะหากว่าภาครัฐไม่แก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนเลยก็เป็นเหตุให้การบริโภคในประเทศยังชะลอตัวต่อไป หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับที่สูง ประชาชนไม่มีสภาพคล่องทางการเงิน จะทำอะไรก็ไม่ได้ ก็ไปฉุดให้การบริโภคแย่ตามไปด้วย
การที่ภาครัฐยื่นมือเข้ามาดูแลเรื่องหนี้ครัวเรือนในครั้งนี้ มองว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในอนาคตสามารถเดินต่อไปได้ในภาพในระยะยาว แต่ในระยะสั้นก็ต้องยอมรับว่าอาจมีผลกระทบต่อผลกระทบการหุ้นกลุ่มแบงก์ทั้งในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยและกำไรสุทธิให้ลดลง แต่ก็เชื่อว่าจะเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเท่านั้น