EA เดินหน้าฟื้นธุรกิจ ผนึก 2 ทุนจีนลุย EV

10 ม.ค. 2568 | 04:51 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ม.ค. 2568 | 04:51 น.

EA ปลื้ม ผู้ถือหุ้นไฟเขียวเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิม ตุน 7,400 ล้านบาท “ชำระหนี้-ไถ่ถอนหุ้นกู้” พร้อมฟื้นฟูธุรกิจหลังปรับโครงสร้างเสร็จ ผนึก2 ยักษ์ใหญ่จีน ลงทุนประกอบยานยนต์ไฟฟ้าในไทย พร้อมผุดโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแห่งแรกใหญ่สุดในไทย

นายฉัตรพล ศรีประทุมประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน)หรือ EA เปิดเผยว่า บริษัทได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากผู้ถือหุ้นในการระดมทุนประมาณ 7,400 ล้านบาท ซึ่งบริษัทคาดว่า จะใช้เงินที่ได้จากการเพิ่มทุนในการเสริมสร้างการฟื้นฟูธุรกิจ หลังจากการปรับโครงสร้างอย่างเข้มข้นภายในกลุ่มบริษัทในระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา

นายฉัตรพล ศรีประทุมประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน)
“เรารู้สึกยินดีที่ได้จัดการธุรกิจจนสถานการณ์เริ่มนิ่งแล้ว ผ่านการตัดสินใจที่ยากลำบากบางอย่าง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้กลับมาคือ กระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง เป็นบวก และการสร้างกำไรอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจที่มีกำไรและปรับโครงสร้างธุรกิจที่ขาดทุน”นายฉัตรพลกล่าว 

ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจของกลุ่ม EA ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตเชื้อเพลิงจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลม, โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การจัดหาผลิตภัณฑ์และระบบที่ใช้ในการกักเก็บและจำหน่ายไฟฟ้า เช่น ธุรกิจพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่ ธุรกิจสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า

รวมถึงธุรกิจประกอบยานยนต์ไฟฟ้า เช่น รถบรรทุกไฟฟ้า รสบัสไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า 

EA เดินหน้าฟื้นธุรกิจ ผนึก 2 ทุนจีนลุย EV

อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทจะมีธุรกิจที่ทำกำไรจากการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการดำเนินธุรกิจสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยที่มีผลประกอบการเป็นบวก

แต่ความสำเร็จของธุรกิจเหล่านี้ได้ถูกหักล้างด้วยธุรกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์และธุรกิจการผลิตแบตเตอรี่ ประสบปัญหาขาดทุนและดูดซับเงินสดไป จากการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเหล่านี้ 

ดังนั้นในการปรับโครงสร้าง จึงได้หยุดธุรกิจการประกอบยานยนต์ไฟฟ้าชั่วคราว และปรับลดขนาดธุรกิจแบตเตอรี่ และการตัดสินใจทั้งสองอย่างนี้ได้ช่วยหยุดการไหลออกของเงินสดของเราได้สำเร็จ  

ขณะเดียวกัน บริษัทยังมองเห็นศักยภาพในการเติบโตและการทำกำไรอย่างมหาศาล ทั้งในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์และธุรกิจแบตเตอรี่ จึงได้ปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ ด้วยการสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้เล่นขนาดใหญ่ในตลาดโลกในภาคธุรกิจเหล่านี้

EA เดินหน้าฟื้นธุรกิจ ผนึก 2 ทุนจีนลุย EV

ซึ่งจะช่วยให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นและสามารถขยายตลาดไปยังนอกประเทศไทยได้ และต้องการใช้เงินทุนให้น้อยลงในภาคธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีเวลาจำกัดในการคืนทุน 

ดังนั้น เมื่อเดือนธันวาคม 2567  EA จึงได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมทุนกับหนึ่งในผู้ผลิตยานยนต์ประเภทพิเศษรายใหญ่ที่สุดของจีน และเป็นผู้ผลิตและส่งออกรถประเภทพิเศษมากกว่า 30,000 คัน ไปกว่า 30 ประเทศทั่วโลก

บริษัทร่วมทุนคือ Chengli Special Automobile Co., Ltd. เพื่อประกอบยานยนต์ไฟฟ้าในโรงงานประกอบของ EA ที่มีพื้นที่ขนาด 65,000 ตารางเมตร (80 ไร่) ตั้งอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยความสามารถในการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 3,000 - 9,000 คันต่อปี ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของยานยนต์ประเภทพิเศษที่ผลิต 

โดยคาดว่า จะเริ่มการผลิตในเดือนเมษายน 2568 โดยยานยนต์ไฟฟ้าที่จะประกอบมีทั้ง รถพยาบาล รถขยะ และรถกระเช้า

จะเป็นครั้งแรกที่ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทพิเศษเหล่านี้จะถูกประกอบขึ้นใน ประเทศไทยในระดับอุตสาหกรรม โดยคาดว่า จะสร้างรายได้มากกว่า 3,000 ล้านบาทในปีแรกของการดำเนินการเต็มรูปแบบในปี 2569 

นอกจากนั้น EA ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลง เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับหนึ่งในผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับแนวหน้าของจีน ซึ่งมีฐานลูกค้าสำคัญอยู่ในตลาดสหรัฐอเมริกา และยุโรป โดยการร่วมทุนนี้จะเป็นการผลิตแบตเตอรี่ ลิเทียมไอออน และจะเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่แรกที่ใหญ่ที่สุดในไทยด้วย 

ทั้งนี้ แบตเตอรี่เหล่านี้จะถูกใช้งานหลักๆ ในด้านระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ การผลิตจะดำเนินการที่พื้นที่ผลิตแบตเตอรี่ของ EA ขนาด 80,000 ตารางเมตร (91 ไร่) ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา

และจะขยายกำลังการผลิตจาก 2 กิกะวัตต์ในปัจจุบันไปเป็น 4 กิกะวัตต์ การลงนามข้อตกลงการร่วมทุนคาดว่า จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 โดยจะเริ่มการจัดเตรียมสถานที่และเครื่องจักรการผลิตในปี 2568 

ด้านนายวสุ กลมเกลี้ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน)กล่าวว่า เงินทุนที่จะได้จากการเพิ่มทุนหลักๆ จะนำไปชำระคืนเงินกู้ธนาคารและไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด

นายวสุ กลมเกลี้ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน)

ซึ่งจะสามารถจะลดหนี้จาก 58,664 ล้านบาท เหลือ 52,004 ล้านบาท ซึ่งนอกจากช่วยลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยรายปีลงได้ 300 ล้านบาทแล้ว ยังช่วยปรับปรุงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้ดีขึ้นด้วย  

รายงานล่าสุดของ EA ระบุว่า กระแสเงินสดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 เป็นบวกที่ 5,610 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากกระแสเงินสดเดิมที่ติดลบ 1,726 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และสูงกว่าเกือบสามเท่าจากปีก่อนหน้านี้

โดยมีกำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ 1,852 ล้านบาท และ EBITDA อยู่ที่ 6,183 ล้านบาท จากรายได้ 14,397 ล้านบาท

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,061 วันที่ 12 - 15 มกราคม พ.ศ. 2568