ทล.เดินหน้าโหมกระแสสร้างมอเตอร์เวย์ต่อเนื่อง ล่าสุดหว่านแหหวังล่อใจนักลงทุนร่วมทุนก่อสร้างและบริหารจัดการเส้นทางนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 109 กม.ทุ่มกว่า 6 หมื่นล้าน ดีเดย์จัดประเมินความสนใจ 2 พ.ย.นี้ เครือปตท.ชี้ชัดปริมาณการจราจรยังไม่มากพอ สี่แสงการโยธาเร่งรัฐแจงความชัดเจนพ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 56 ชี้ขัดพ.ร.ฎ.เวนคืนอาจส่งผลกระทบเอกชน
แหล่งข่าวระดับสูงของกรมทางหลวง(ทล.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เตรียมจัดสัมมนาประเมินความสนใจของภาคเอกชน(Market Sounding) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม-ชะอำในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้ หลังจากที่ช่วงก่อนนี้เปิดรับฟังความเห็นนักลงทุนในเส้นทางพัทยา-มาบตาพุด เส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา และเส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี ไปเรียบแล้ว พร้อมกับการนำเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความด้านการร่วมลงทุนที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556
โดยประเมินความสนใจของภาคเอกชนในครั้งนี้จะกล่าวถึงความเป็นมาของโครงการประเมินความสนใจของนักลงทุนโดยดร.ปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล วิศวกรชำนาญการพิเศษทล. พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เอกชนผู้สนใจร่วมลงทุนทั้งในและต่างประเทศแสดงความเห็นเพื่อทล.จะได้นำมาปรับปรุงรายละเอียดให้สอดคล้องกับความต้องการต่อไป
นอกจากนั้นนายไกรฤทธิ์ ฉายไธสง วิศวกรงานทาง ยังนำเสนอสาระสำคัญของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเส้นทางนครปฐม-ชะอำ เช่นเดียวกับ ดร.ปาริชาติ พัฒนเมฆา ผู้เชี่ยวชาญด้านแบบจำลองคาดการณ์จราจรจะนำเสนอคาดการณ์ปริมาณจราจรและประมาณการรายได้ เนื่องจากหลายฝ่ายเป็นห่วงเรื่องความคุ้มค่าด้านการลงทุนเพราะว่าเส้นทางนี้ยังมีปริมาณการจราจรไม่หนาแน่น ประการสำคัญนายเอกลักษณ์ สุวรรณการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการร่วมลงทุนยังจะนำเสนอแนวคิดรูปแบบการร่วมลงทุนให้กับผู้สนใจในครั้งนี้อีกด้วย
“รูปแบบการลงทุนในปัจจุบันมีทั้งรัฐจ่ายค่าเวนคืน และก่อสร้าง ส่วนเอกชนลงทุนด้านระบบและบริหารจัดการโครงการ ซึ่งรูปแบบนี้เป็นทั้ทราบกันดีว่าไม่ได้รับความสนใจจากภาคเอกชน แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะมีวงเงินลงทุนรวมประมาณ 6 หมื่นล้านบาทก็ตาม โดยจากผลการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่าไม่มีความคุ้มค่าด้านการลงทุน ยกเว้นจะลงทุนการบริหารจัดการเท่านั้นที่ทล.ตั้งงบไว้วงเงิน 4,500 ล้านบาท นั่นคือรัฐลงทุนเวนคืน ก่อสร้าง แล้วให้เอกชนบริหารจัดการจึงต้องศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนที่เหมาะสมและสนองความต้องการของภาคเอกชนได้อย่างตรงตามความต้องการจริงๆ โดยรัฐไม่เสียประโยชน์ ประกอบกับปัจจุบันรัฐต้องใช้งบลงทุนจำนวนมาก แต่งบประมาณมีจำกัดจึงต้องเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน”
โดยโครงการมอเตอร์เวย์เส้นทางนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กิโลเมตร ส่วนใหญ่จะเป็นแนวทางราบ แต่จะมีบางช่วงยกระดับ อาทิ ช่วงผ่านอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเลียบไปกับแนวเส้นทางรถไฟสายใต้ จะต้องยกระดับระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร และรูปแบบจะเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร อีกทั้งยังจะมีการก่อสร้างจุดพักรถขนาดใหญ่จำนวน 1 จุด (จุดละ 2 ฝั่ง) ขนาดกลาง 2 จุด และขนาดเล็ก 2 จุด
“ทล.ไม่อยากแบ่งแยกผู้ลงทุนออกเป็นหลายรายเนื่องจากจะทำให้เกิดความยุ่งยากมากกว่ารายเดียว แต่ขณะนี้ยังไม่ปรากฏว่ามีเอกชนรายใดแสดงความสนใจ จึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนได้เข้ามารับฟังรายละเอียดโดยเรื่องการลงทุน และจะมีบริษัทที่ปรึกษาจากจีนมาให้ข้อมูลในครั้งนี้ด้วย”
นายสุธี วงศ์สิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สี่แสงการโยธา จำกัด กล่าวว่า ประการแรกรัฐต้องลุ้นว่าเรื่องที่นำเสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาอยู่ว่ากรณีการร่วมลงทุนดังกล่าวจะขัดกับกฏหมายเวนคืนหรือไม่ หากไม่สามารถทำได้ต้องปรับเปลี่ยนการลงทุนมอเตอร์เวย์ทั้งหมด ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้สามารถเปรียบเทียบได้กับกรณีที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเวนคืนมาลงทุน แต่ต่อมามีการปรับเปลี่ยนองค์กรไปเป็นบริษัทมหาชน สร้างรายได้โกยกำไรแต่ละปีมหาศาล แต่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนกลับไม่ได้รับประโยชน์ด้วย ทำนองที่ว่าเอาทรัพย์ของแผ่นดินไปลงทุนให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นจึงต้องรอความชัดเจนจากการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ชัดเจนก่อน
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,206 วันที่ 3 - 5 พฤศจิกายน 2559