เนรมิตที่ดินหน้าสวนสยาม ‘ไชยวัฒน์’เท2พันล.ผุดโปรเจ็กต์รับสายสีชมพู-เหลือง
“ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ” ตำนานสวนสนุกเมืองไทย เตรียมเปิดกรุที่ดินโซนด้านหน้าสวนสยาม ผุดโปรเจ็กต์ยักษ์ วงเงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท รับประมูลรถไฟฟ้าสายสีชมพู-สีเหลือง หวังอานิสงค์ราคาที่ดินโซนรามอินทราปรับเพิ่มต่อเนื่อง ด้าน รฟม.เตรียมเปิดซอง 17 พ.ย. นี้ คาดลงนาม เม.ย.ปีหน้าและเปิดบริการปี 63
นายไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ประธานกรรมการ บริษัท สยามพาร์คซิตี้ กรุ๊ป จำกัด ผู้ก่อตั้งสวนสยาม เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ส่วนตัวให้ความสนใจติดตามความเคลื่อนไหวแผนการพัฒนารถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สายสีส้ม ตะวันออก(ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง(ลาดพร้าว-สำโรง) มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสายสีชมพู ผ่านถนนรามอินทรา และยังมีสถานีโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับสวนสยามประมาณ 500 เมตร ทั้งนี้ ปัจจุบันพบว่าราคาซื้อขายที่ดินตามแนวถนนรามอินทราปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นประมาณ 10% - 30% ในบางทำเล โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้ๆ สวนสยามนั้นราคาที่ดินปรับขึ้นไม่น้อยกว่า 30% เช่น ฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี
“ราคาที่ดินที่แพงขึ้นถือเป็นพื้นฐานปกติเมื่อมีโครงการรถไฟฟ้าผ่านไปเส้นทางไหนราคาที่ดินจะปรับเพิ่มประมาณ 10% - 25% โดยภาพรวมย่านถนนรามอินทราราคาที่ดินตารางวาละประมาณ 1 แสนบาท ดังนั้นหากรถไฟฟ้าเริ่มประมูลและมีการก่อสร้างราคาคงปรับเพิ่มไม่น้อยกว่าตารางวาละ 1.5 แสนบาท”
สำหรับที่ดินสวนสยามมีทั้งหมดประมาณ 300 ไร่ ที่ผ่านมาได้พัฒนาไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ ยังเหลือที่ดินโซนด้านหน้าอีกประมาณ 20% เท่านั้นที่ยังไม่ได้นำมาพัฒนา ถัดจากศูนย์การค้าอมอรินี่ ซึ่งผมได้วางแผนพัฒนารองรับไว้เรียบร้อย โดยโซนด้านหน้านี้จะรื้อเพื่อก่อสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ภายใต้ชื่อ “เมืองบางกอก” ที่จะรวบรวมเอาเรื่องราวในอดีตของกรุงเทพมหานครมารวมไว้ ณ ที่แห่งนี้ เนื่องจากสวนสยามถือได้ว่าคือเอกลักษณ์ของประเทศไทยอย่างหนึ่ง
นายชัยวัฒน์กล่าวอีกว่าการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ยังเติบโตได้เสมอ วงการพัฒนาที่อยู่อาศัยจะมีขึ้นมีลงเป็นบางครั้งเท่านั้น ยกเว้นช่วงวิกฤตก็จะมีผลกระทบอยู่บ้าง โดยเฉพาะเมื่อรายไหนต้องพึ่งพาสถาบันการเงิน ซึ่งแต่ละรัฐบาลก็จะเร่งเข้ามาให้ความช่วยเหลืออยู่เสมอ เพราะหากรัฐบาลเริ่มส่งสัญญาณที่ดี มีการนำเงินออกมาจับจ่าย สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อ ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็จะค่อยๆเติบโตตามไปด้วย ปัจจุบันนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์คนรุ่นใหม่มีมากขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีก่อสร้างที่รวดเร็วทันสมัยมากขึ้น ทั้งวิธีการก่อสร้างไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ประดับตกแต่งบ้าน จึงยังเห็นว่านักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รุ่นใหม่ยังก้าวหน้าได้อีก เพียงแต่จะต้องสามารถบริหารจัดการให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนได้ ทั้งนี้สวนสยามคงจะไม่ขยายไปทางอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น ส่วนลูกๆก็หันมาสนใจทางด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น ตามที่ได้วางรากฐานเอาไว้ก็คงจะช่วยกันขับเคลื่อนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ต่อไป เช่นโครงการเมืองบางกอกที่จะเน้นเพื่อการท่องเที่ยวมากกว่าเมืองเพื่อการค้าขาย ให้เป็นธุรกิจที่อยู่ในความสนใจของชาวโลก”
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กล่าวว่า ตามที่ได้ประกาศเชิญชวนเข้าร่วมคัดเลือกเป็นผู้รับสัมปทานงานออกแบบและก่อสร้างงานโยธา พร้อมระบบเครื่องกลและไฟฟ้า รวมทั้งงานให้บริการการจัดการเดินรถและบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม - 5 สิงหาคม 2559 โดยมีเอกชนขอซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนจำนวน 17 รายนั้นได้กำหนดให้มีการยื่นซองในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ พร้อมเตรียมเปิดซองในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2559
โดยการคัดเลือกผู้รับสัมปทานดังกล่าวได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 และพ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 โดยสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าทั้ง 2 เส้นทางนี้เป็นโครงการในรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งรฟม.ลงทุนด้านการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และผู้รับสัมปทานลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางโยธา ระบบเครื่องกลและไฟฟ้า(รถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคร่อมราง) และให้บริการจัดการเดินรถและบำรุงรักษา รวมถึงเป็นผู้จัดเก็บค่าบริการ (PPP Net Cost) มีระยะเวลาสัมปทาน 33 ปี 3 เดือน
ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู มีระยะทาง 34.5 กิโลเมตร จำนวน 30 สถานี ศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง และอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง ส่วนสายสีเหลือง ระยะทาง 30 กิโลเมตร จำนวน 23 สถานี ศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง และอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง รูปแบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว คาดว่าจะเซ็นสัญญาและเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนเมษายน 2560 และเปิดให้บริการในปี 2563 โดยสายสีชมพู และสายสีเหลือง มีสัญญาเดียว โดยสายสีชมพู วงเงินรวม 53,519 ล้านบาท สายสีเหลือง วงเงินรวม 51,931 ล้านบาท และสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี วงเงินรวม 113,999 ล้านบาท
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,207 วันที่ 6 - 9 พฤศจิกายน 2559